รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2558

                รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2524 ณ จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรของ นายวิสิทธิ์ และ นางผัลย์ศา เอื้อวิทยาศุกร สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสันติราษฏร์วิทยาลัย จังหวัดกรุงเทพมหานคร จากนั้นได้รับทุนการศึกษาต่อที่ สถานศึกษาเคมีปฏิบัติ (สถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญา โดยได้รับรางวัลเรียนดี เหรียญเงิน ในปี พ.ศ. 2545 จากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และสำเร็จการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2547 ระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น มีความสนใจเกี่ยวกับเคมีอินทรีย์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมทำงานวิจัยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงศักดิ์ ศรีธนาอนันต์ อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย หลังจากนั้นได้รับทุนค่าเดินทางเพื่อการศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศประจำปี พ.ศ. 2547 จาก มลูนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นิละนิธิ และทุนผู้ช่วยสอน โดยคำแนะนำของ ศาสตราจารย์ ดร. ศุภวรรณ ตันตยานนท์ เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และสำเร็จการศึกษา ณ Worcester Polytechnic Institute (WPI) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2549 โดยขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสังเคราะห์ และศึกษาปฏิกิริยาเคมีเชิงแสงของสารประกอบไพราโนพาโซล ร่วมกับ Professor James W. Pavlik พร้อมกับตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 3 เรื่อง หลังจากนั้นได้รับทุนการศึกษา ในสาชาเคมีวัสดุศาสตร์ ณ Japan Advanced Institute of Science and Technology ( JAIST) ประเทศญี่ปุน ในปี พ.ศ. 2553 โดยได้มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยกับ Professor Yusuke Kawakami ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในด้านซิลิคอนโพลิเมอร์ โดยในระหว่างศึกษาอยู่นั้น สามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยได้จำนวน 4 เรื่อง และ ระหว่างการศึกษาอยู่นั้น ดร.วุฒิชัย ได้รับทุนส่งเสริมงานวิจัยระยะสั้น เพื่อไปศึกษาวิจัยร่วมกับ Professor Yusuf Yagci ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกของวง การพอลิเมอร์ ณ Istanbul Technical University (ITU) ประเทศตุรกี หลังจากสำเร็จการศึกษา ดร.วุฒิชัย ได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และในปี พ.ศ. 2556 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ สาขาเคมีอนินทรีย์

                หลังจากจบการศึกษา ชีวิตการทำงานวิจัยในฐานะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของ ดร.วุฒิชัย ได้รับการผลักดันโดยคณะวิทยาศาสตร์ ด้วยทุนสนับสนุนครุภัณฑ์อาจารย์รุ่นใหม่ ทุนสมทบในการทำวิจัย ทุนสนับสนุนผู้ช่วยวิจัยทุนวิจัยก้าวกระโดด และมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ อีกทั้ง ดร.วุฒิชัย ได้รับการสนับสนุนงานวิจัยหลากหลายหน่วยงาน เช่น เป็นผู่ร่วมวิจัยเครือยข่ายพันธมิตรความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีนาโนเทค-มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านวัสดุและระบบอัจฉริยะ ประจำปี พ.ศ. 2555-2560 จาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร โอสถจันทร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งนักวิจัยพี่เลี้ยงและหัวหน้าศูนย์ ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจาย์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2555 และ 2557 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยง และได้รับทุนโครงการนักวิจัยรุ่นเยาว์ประจำปี พ.ศ. 2557 จากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย เพื่อเดินทางไปทำงานวิจัยระยะสั้นร่วมกับ Dr.Michel Wong Chi Man นักวิจัยระดับโลกในวงการนาโนวัสดุศาสตร์ ณ L'Ecole Nationale Superieure de Chimie de Montpellier ประเทศฝรั่งเศส

                งานวิจัยที่ผ่านมา ดร.วุฒิชัย และลูกศิษย์ ล้วนให้ความใส่ใจและสนใจด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science)เป็นหลัก โดยร่วมกันสังเคราะห์และแยกสารประกอบนาโนวัสดุชนิดใหม่ ๆ ได้แก่ กลุ่มสารประกอบออร์กาโนซิลิคอนซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานภายในเป็นอนินทรีย์ (inorganic core) ของโครงร่าง Si-o และภายนอกเป็นอินทรีย์ หรือเรียกว่านาโนวัสดุของสารผสมระหว่างอินทรีย์-อนินทรีย์ (organic-inorganic nanohybrid materials )ได้แก่ พอลิฮีดรอลโอ ลิโกเมอริกซิลเซสควิออกเซน (polyhedral oligomeric silsesquioxane) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของโมเลกุลระหว่าง 1-3 นาโนเมตร และมีรูปร่างโมเลกุลแบบรูปททททรงหลายหน้า เช่น โมเลกุลทรงหกหน้าหรือทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก (cubic) ที่มีสมมาตรแบบออกตะฮีดรอล (Oh) จะพบว่ามีคุณสมบัติเป็นผลึกสูง (highly crystalline ) ส่วนรูปทรงเจ็ดหน้าและทรงแปดหน้าที่มีสมมาตรในโมเลกุลต่ำ มักจะมีการจัดเรียงตัวแบบอสัณฐานสูง (highly amorphous) หรือคุณสมบัติคล้ายกับพอลิเมอร์ ซึ่งจากการค้นพบเหล่านี้ทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง คุณสมบัติทางเคมี และกายภาพของสารประกอบกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้สารประกอบเหล่านี้ได้ถูกดัดแปลงทางเคมีอินทรีย์ให้มีหมู่ฟังก์ชันที่หลากหลาย เพื่อง่ายต่อการนำไปต่อยอดในการทำปฏิกิริยาเคมีต่อไป ซึงงานวิจัยในปัจจุบันและอนาคต ดร.วุฒิชัย ได้มีการริเริ่มนำเอาสารประกอบต่าง ๆ ที่ทีมวิจัยค้นพบ มาพัฒนาและปรยุกต์ใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา วัสดุโพลิเมอร์ วัสดุตรวจวัดไอออนต่าง ๆ ทางด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยงานวิจัยต่อยอดเหล่านี้ของ ดร.วุฒิชัย จได้รับการเผยแพร่ในอนาคตอันใกล้

                ปัจจุบัน ดร.วุฒิชัย มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยเป็นผู้วิจัยหลัก (correspondinganthor) จำนวน 8 เรื่อง โดยผลงานวิจัยมากว่าครึ่ง ได้รับการตีพิพม์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีคุณภาพสูง เช่น Inorganic Chemistry ,Organometallics และ Dalton Transactions นอกจากนี้ ดร.วุฒิชัย ได้รับรางวัลงานวิจัยจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น รางวัลนำเสนอผลงานวิจัยดีเยี่ยมในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัย อาวุโส สกว." ครั้งที่ 14 จาก สกว. และ สกอ. ประจำปี พ.ศ. 2557 รางวัล Early Career Chemists จาก American Chemical Society (ACS) เพื่อเป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของประเทศไทย ไปเสนอผลงานวิจัยที่งานประชุม 2015 International Chemical Congress of Pacific Basin Societies ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากงานด้านการเรียนการสอน และงานวิจัยแล้ว ดร.วุฒิชัย ได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิจัยให้แก่วารสารที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ หลายฉบับ เช่น Journal of Materials Chemistry Chemical, Communications, Inorganic Chemistry, Organometallics, Dalton Transactions, RSC Advances, Soft Matter, Journal of Physical Chemistry, Polymer และ Journal of Colloid and Interface Science รวมถึงทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินบทความวิชาการ ในการประชุมวิชาการทางเคมีที่จัดขึ้นในประเทศไทย เช่น Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON), The Polymer Conference of Thailand (PCT) และการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ตลอดจนได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทยให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่กรรมการบริหารสมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน

                ผลงานวิจัยและการค้นพบต่าง ๆ ของ ดร.วุฒิชัย จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความใฝ่รู้ ความขยันขันขํงและความทุ่มเทในการทำงานของลูกศิษย์ในทีมวิจัย รวมถึงการสนับสนุนจากคณาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนท่านในภาควิชาเคมี รวมถึงผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น และศาสตราจารย์ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข และผู้บริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และศาสตราจารย์ ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ให้การสนับสนุนทรัพยากรอย่างเต็มที่และที่ขาดมิได้คือ กำลังใจที่สำคัญใสนการทำงานจากครอบครัวเอื้อวิทยาศุภรที่หล่อหลอมให้ ดร.วุฒิชัย สามารถก้าวเดินต่อไปในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ต่อประชาคมโลกต่อไป

ที่มาข้อมูล : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2558. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2558. ISBN : 978-616-91314-5-8

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล