คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เอกลักษณ์เฉพาะของสถาบันอันเป็นที่พึงปรารถนา
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน
หากเรามองภาพรวมของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพบว่าคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ในเหลาย ๆ ด้าน เป็นเรื่องดีที่จะศึกษาดูว่าเอกลักษณ์เฉพาะเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างไร และในอนาคตเอกลักษณ์เหล่านี้จะคงอยู่หรือไม่ หรือจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด เอกลักษณ์เฉพาะเรื่องแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องการวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นคณะวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยเข้มข้น มีผลงานวิจัยมากและดี เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อมีการประเมินผลการวิจัยในรูปแบบสิ่งตีพิมพ์ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับในสังคมวิทยาศาสตร์ ก็จะพบวว่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานวิจัยในระดับต้น ๆ (ที่จริงแล้วเป็นอันดับที่หนึ่งของประเทศไทย หากจะเปรียบเทียบกับคณะวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ในประเทศ) เอกลักษณ์ทางด้านงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯ นี้ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่สมัยคณบดีท่านแรก คือ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ที่ได้เน้นเรื่องงานวิจัยเป็นอย่างยิ่งโดยเน้นถึงความสำคัญของการทำวิจัยซึ่งจะส่งผลให้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูง จึงมีการสนับสนุนงานวิจัยอย่างเข้มข้น ท่านคณบดีท่านต่อ ๆ มาคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นาวาตรี กำจร มนุญปิจุ ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน และตัวผมเอง ต่างก็ให้ความสำคัญกับการวิจัยอย่างมาก เอกลักษณ์เฉพาะทางด้านงานวิจัยจึงถูกฝังรากลึกจนกระทั่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรของคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จนเป็นที่กล่าวกันว่าบุคลากรที่จะมาเป็นอาจารย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องเป็นบุคคลที่รักที่จะทำงานวิจัย ใครที่มาอยู่คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องสอนและต้องทำวิจัยด้วย
ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตเหตุผลที่งานวิจัยได้ถูกพัฒนามาจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะนั้น คงเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกันคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีระบบบัณฑิตศึกษาที่ดี ที่เข้มข้น ทั้งทางด้านหลักสูตรระดับปริญญาโทและหลักสูตรระดับปริญญาเอก ซึ่งระยะหลัง ๆ มีการเน้นหลักสูตรระดับปริญญาเอกมากขึ้น ในปัจจุบันมีหลักสูตรระดับปริญญาเอก 19 หลักสูตรและหลักสูตรระดับปริญญาโท 20 หลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีสัดส่วนนักศึกษาบัณฑิตมากเกือบเท่านักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยสัดส่วนของนักศึกษาระดับปริญญาเอกต่อนักศึกษาระดับปริญญาโทก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2549 นี้ มีนักศึกษาระดับปริญญาเอก 413 คน ในขณะที่มีนักศึกษาระดับปริญญาโท 660 คน เป็นที่น่าเชื่อว่าสัดส่วนนี้ในอนาคตจะเอียงไปทางด้านปริญญาเอกมากขึ้น การมีระบบบัณฑิตศึกษาที่ดีมาจากส่วนประกอบหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือความสามารถของคณาจารย์และบุคลากร ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงของคณะวิทยาศาสตร์ฯ นอกจากการมีระบบบัณฑิตศึกษาที่ดีแล้ว ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย มีวารสารประเภท electronic มากมาย การค้นหาข้อมูลทำได้ง่ายจากทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ เองหรือแม้แต่ที่บ้าน เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งข้อมูลการวิจัยเป็นเรื่องที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ เห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในปีที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลงทุนงบประมาณสนับสนุนห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เป็นจำนวนกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มเติมจากที่สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว นอกจากจะมีระบบบัณฑิตศึกษาที่ดีและห้องสมุดที่ดีแล้ว คณะวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีเครื่องมือครุภัณฑ์วิจัยที่ดีมีคุณภาพและทันสมัย ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้เห็นความสำคัญในการสนับสนุนอย่างมากเช่นกัน ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับงบประมาณประจำปีจำนวนค่อนข้างจำกัด ดังนั้นหากจะอาศัยงบประมาณประจำปีอย่างเดียว ก็จะไม่สามารถทำให้ได้งบประมาณเพียงพอในการจัดหาครุภัณฑ์วิจัยที่ทันสมัยได้ แต่ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับเงินทุนวิจัยขนาดใหญ่จากหลายแหล่ง เช่น โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) สำหรับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก ADB นั้น มีโครงการที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นแกนหลักอยู่ 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางด้านเคมี และโครงการสำนักงานส่งเสริมวิชาการพิษวิทยา
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากคณะวิทยาศาสตร์
“จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศ”
ส่วนโครงการที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีโอกาสร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ คือโครงการบัณฑิตศึกษาและวิจัยสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ซึ่งโครงการเหล่านี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นอย่างมาก โดยผู้ที่ดูแลโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางด้านเคมี คือ ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ผู้ที่ดูแลโครงการสำนักงานส่งเสริมวิชาการพิษวิทยา คือ รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ และโครงการบัณฑิตศึกษาและวิจัยสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร คือ ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้คณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในด้านการจัดซื้อครุภัณฑ์วิจัยค่อนข้างสูง ประกอบกับการได้มาซึ่งเงินสนับสนุนงานวิจัยจากแหล่งทุนอื่น ๆ ทำให้ครุภัณฑ์วิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของแหล่งเงินทุนวิจัยของบุคลากรในคณะวิทยาศาสตร์ฯ นั้น นโยบายหลักของคณะวิทยาศาสตร์ฯ คือ บุคลากรสายวิชาการจำเป็นที่จะต้องขอทุนอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งปรากฏว่าในปัจจุบันบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนใหญ่จะได้รับเงินทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัยฯ อย่าต่อเนื่อง เช่น จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ WHO (World Health Organization) และสถาบันอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่เงินทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก เป็นสัดส่วนที่สำคัญของงบประมาณของคณะวิทยาศาสตร์ฯ แต่อย่างไรก็ดี คณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการจัดสรรเงินทุนวิจัยเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ เพื่อให้สามารถหาทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกได้ โดยจัดตั้งเป็นทุนวิจัยในหลาย ๆ ระดับเพื่อเป็นการฝึกฝนให้อาจารย์รุ่นใหม่ เริ่มต้นเรียนรู้ในการเขียนโครงการขอทุนวิจัย โดยที่อาจารย์ใหม่ที่เข้ามาปฏิบัติงานในคณะวิทยาศาสตร์ฯ มักจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำวิจัยและมีศักยภาพในการทำวิจัยเป็นหลัก โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ อาจารย์ที่เข้ามาเป็นสมาชิกของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนใหญ่มักจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ และส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยสูงบุคลากรกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาทำงานในคณะวิทยาศาสตร์ฯ ใน 2 ปีแรก จะมีทุนวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯเอง ที่ให้การสนับสนุนในลักษณะโครงการวิจัย หลังจากนั้นอาจารย์กลุ่มนี้จะต้องเขียนโครงการขอทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกที่ใหญ่ขึ้น เช่น จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือต่างประเทศ เช่น NIH หรือ WHO ดังนั้นแนวทางการได้มาซึ่งทุนวิจัยจึงมีมากและหลากหลาย ในด้านค่าครองชีพของบุคลากรนั้น คณะวิทยาศาสตร์ฯ ก็ได้ให้ความสำคัญและตระหนักดีว่าอาจารย์ที่เข้ามาใหม่ ๆ มีความจำเป็นในด้านค่าครองชีพพอสมควร ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีการสนับสนุนด้านค่าตอบแทนพิเศษ ให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มทำงาน โดยในปัจจุบันงบประมาณที่จัดสรรให้เป็นค่าตอบแทนพิเศษนี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ในปัจจุบันงานวิจัยในสายวิทยาศาสตร์ฯ มีความเป็นสหสาขาวิชามากขึ้น (เป็น multidisciplinary มากขึ้น) เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของการเป็นสหสาขาวิชา โดยการใช้ศาสตร์จากหลาย ๆ แขนง มาแก้ปัญหาโจทย์วิจัยเดียวกันคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงส่งเสริมในการสร้างกลุ่มวิจัยขึ้น เรียกว่ากลุ่มวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เพื่อเป็นกระบวนการสร้างทีมวิจัย ให้อาจารย์ที่สนใจงานวิจัยใกล้เคียงกันได้ทำงานวิจัยร่วมกันเป็นกลุ่มโดยที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะให้งบประมาณสนับสนุนในช่วงแรก และตั้งความคาดหวังว่าหน่วยวิจัยเหล่านี้จะต้องหาทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกให้ได้มากทัดเทียมกับจำนวนงบประมาณที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ ให้การสนับสนุน และจะต้องมีผลงานตีพิมพ์ตามเกณฑ์ที่กำหนดในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีกลุ่มวิจัยเช่นนี้ทั้งหมดจำนวน 10 กลุ่ม และจากผลการประเมิน แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กลุ่มวิจัยเหล่านี้มีศักยภาพสูงมาก ทั้งในแง่ปริมาณโครงการวิจัยที่ขอทุนวิจัยได้ และปริมาณเงินวิจัยที่ได้รับจากแหล่งทุนภายนอกตลอดจนปริมาณและคุณภาพของผลงานวิจัยในลักษณะผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติหลังจากที่ได้มีการประเมินในหลักการและประสิทธิภาพของกลุ่มวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเป็นระยะ พบว่า การที่สามารถส่งเสริมให้นักวิจัยทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานวิจัยสูงขึ้น ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีการวางแผนเพื่อเพิ่มกลุ่มวิจัยในลักษณะนี้ประมาณปีละ 2 กลุ่ม เนื่องจากเล็งเห็นว่าการทำวิจัยในลักษณะนี้เป็นเรื่องสำคัญ และอยากจะเห็นการวิจัยในลักษณะกลุ่มวิจัยนี้ขยายออกไปไม่เฉพาะในคณะวิทยาศาสตร์ฯ เท่านั้น แต่อยากให้สถาบันอื่น ๆ มีการพัฒนาแบบเดียวกันด้วย โดยอาจจะมีการร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดลในลักษณะกลุ่มวิจัยข้ามสถาบัน (consortium) เพราะการทำวิจัยเป็นกลุ่มในลักษณะ multidisciplinary เป็นเรื่องที่เห็นผลในปัจจุบัน และคาดว่าจะมีประโยชน์มากขึ้นในอนาคต และจากการดำเนินการจัดตั้งกลุ่มวิจัยในลักษณะ Center of Excellence ยังทำให้พบว่าสิ่งที่เราขาดการพัฒนา คือการพัฒนาผู้นำการวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมผู้นำการวิจัยขึ้น โดยหวังว่าโครงการส่งเสริมผู้นำการวิจัยนี้จะช่วยสร้างกลุ่มวิจัยใหม่ ๆ ขึ้นในอนาคต ดังนั้นหากมองในเรื่องของการวิจัยแล้ว ความเป็นเอกลักษณะของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีอยู่มากและมีการสร้างมาตรการต่าง ๆ ที่เอื้อให้การวิจัยทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นตลอดเวลาตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า บัณฑิตศึกษาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการดำเนินงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีระบบสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาบัณฑิตอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาบัณฑิตมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนส่งเสริมประสิทธิภาพของงานวิจัย ซึ่งจะพบว่าในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้ทุนนักศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็นจำนวนที่มากขึ้นทุกปี และปัจจุบันนักศึกษาในระดับปริญญาเอกที่เริ่มเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ฯ ในปีการศึกษาแรก ทุกคนจะได้รับทุนการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ โดยทุนที่ให้กับนักศึกษาบัณฑิตระดับปริญญาเอกนี้จะรวมทั้งค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายประจำเดือน เมื่อนักศึกษาขึ้นปีที่ 2 ของโครงการปริญญาเอกก็มักจะได้รับการจัดสรรทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทุน คปก. ทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทุนของอาจารย์ที่ปรึกษาเอง ทุนอาจารย์ช่วยสอน (Teaching Assistant) หรือทุนจากแหล่งอื่น ๆ ระบบอาจารย์ช่วยสอนนั้น เกิดขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีอาจารย์ช่วยสอนถึง 183 คน ระบบอาจารย์ช่วยสอนนี้จะเป็นการได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ นักศึกษาจะได้ค่าตอบแทนเป็นค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ และได้ประสบการณ์ในการสอน เพื่อเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการประกอบอาชีพในอนาคตตลอดจนเป็นการลดภาระงานสอนของอาจารย์ประจำ เพื่ออาจารย์จะได้มีเวลาทำงานวิจัยเพิ่มขึ้น
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บัณฑิตวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ฯ และคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างระบบ research assistant ขึ้น โดยการสนับสนุนมาจาก 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของอาจารย์ที่มีทุนวิจัย ส่วนหนึ่งมาจากบัณฑิตวิทยาลัยฯ และอีกส่วนหนึ่งมาจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ จะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมามีการส่งเสริมการวิจัยเพิ่มขึ้น ทั้งที่ภาครัฐฯ เองมีงบประมาณในด้านนี้จำกัดค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้หยุดยั้งให้คณะวิทยาศาสตร์ฯ ลดหย่อนศักยภาพในการวิจัยลง ยังคงสามารถทำงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงอยู่ตลอดเวลาและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการเรียนการสอน ก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคณะวิทยาศาสตร์ฯ เช่นกัน กล่าวคือคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีภาระการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี 2 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งเป็นภาระที่จะต้องสอนให้หลักสูตรและคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนัก คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องรับผิดชอบสอนนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ของทุกคณะ ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 สำหรับบางหลักสูตร และอีกส่วนหนึ่งเป็นการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะวิทยาศาสตร์ฯ เองตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ฯ ไม่ได้เพิ่มจำนวนการรับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ที่ major สาขาทางวิทยาศาสตร์ เช่น เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา พฤกษศาสตร์ หรือเทคโนโลยีชีวภาพเลย แต่พยายามอย่างมากที่สุดที่จะเพิ่มคุณภาพของนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จำนวนนักศึกษาที่เข้ามาเรียนสาขาวิทยาศาสตร์มีอยู่ประมาณ 300 คนต่อปีมาเป็นเวลานาน แต่ส่วนที่เพิ่ม คือการเพิ่มในด้านคุณภาพนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีไม่ว่าจะเป็นสาขาเคมีฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา พฤกษศาสตร์ หรือเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งจะมีคุณภาพสูงขึ้น และมีกระบวนการเรียนการสอนที่เข้มข้นขึ้น เริ่มตั้งแต่ความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ฯ กับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว โดยจัดให้มีโครงการเรียนล่วงหน้า (advance placement) คือการชักชวนนักเรียนเก่ง ๆ ในโรงเรียนมัธยมเข้ามาเรียนร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยฯ แต่พบว่าถ้าหากดำเนินโครงการเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ อาจารย์ในโรงเรียนอาจจะไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ในที่สุดจึงมีรายวิชาที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งอาจารย์ของโรงเรียนจะเป็นผู้สอนแต่คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นผู้กำกับดูแลหลักสูตรและให้คำแนะนำในกระบวนการเรียนการสอนตลอดจนการออกข้อสอบในการทดสอบนักเรียน ถ้าหากนักเรียนผ่านรายวิชาที่เรียนล่วงหน้าเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หรือเรียนที่โรงเรียนของนักเรียนเองก็ตาม เวลาเข้ามาเรียนหลักสูตรปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะไม่ต้องเรียนรายวิชาเหล่านั้นซ้ำอีก ดังนั้นนักเรียนที่เก่งและเรียนเร็วกว่าคนอื่นก็จะไปได้เร็ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักเรียนที่ผ่าน advance placement เท่านั้น เมื่อเข้ามาเรียนแล้วก็ยังมีโครงการ honor’s program หรือ distinction program หรือที่ภาษาไทยเรียกว่าหลักสูตรพิสิฐวิธาน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างให้นักศึกษาที่มีความสามารถ ได้เรียนอย่างเข้มข้นกว่านักศึกษาทั่วไปปัจจุบันนี้ทุกหลักสูตรในระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ มีโครงการ honor’s program นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรพิสิฐวิธานจะมีความเก่งและอยากเรียนให้มีความลึกซึ้งขึ้นในสิ่งที่ยากมากขึ้นและท้าทายมากขึ้นกว่าหลักสูตรปกติ คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะมีวิชาเฉพาะสำหรับนักศึกษากลุ่มนี้ และถ้าหากเข้ามาเรียน honor program แล้วได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.25 หรือสูงกว่านั้น ก็สามารถเข้าไปเรียนในระดับปริญญาเอกได้เลยโดยไม่ต้องเรียนระดับปริญญาโท ซึ่งโครงการนี้เรียกว่า B.Sc-Ph.D. program ทำให้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มีความเข้มข้นในวิชาการ สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกได้โดยไม่ต้องเรียนระดับปริญญาโท
กิจกรรมบรรยายพิเศษ Nobel Laureate Lectures โดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล
ระยะหลัง ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ฯ จำนวนนักศึกษาที่จบระดับปริญญาตรี มีอัตราส่วนของนักศึกษาที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสูงขึ้นคณะวิทยาศาสตร์ฯ อยากเห็นว่านักศึกษาที่มาเรียนที่คณะฯ สามารถพัฒนาเป็นนักศึกษาที่มีคุณภาพ และมุ่งเป้าไว้ว่า 70-80% ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีสามารถเรียนจนจบระดับปริญญาโทหรือระดับปริญญาเอกได้ จากการดำเนินงานโครงการ honor’s program พบว่านักศึกษาจำนวนหนึ่งสนใจไปทำวิจัยต่างประเทศ คณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้จัดสรรทุนให้ไปศึกษาต่างประเทศเป็นระยะเวลาประมาณ 10 สัปดาห์ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีความร่วมมืออยู่กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่งในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี เช่นที่ University of Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา และกำลังพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ อยู่นอกจากการไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเวลาประมาณ 10 สัปดาห์ของนักศึกษาพิสิฐวิธานแล้ว บางหลักสูตรก็เอื้อให้นักศึกษาไปศึกษาต่อช่วงสั้นในต่างประเทศหรือไปฝึกงานในโรงงานหรือในสถาบันวิจัยอื่น ได้เป็นระยะเวลาค่อนข้างนานถึงหนึ่งภาคการศึกษาเช่นกัน ซึ่งทำให้ความหลากหลายของหลักสูตรมีมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา ด้านการพัฒนาหลักสูตร ก็มีการดำเนินการมาโดยตลอด เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการพัฒนาหลักสูตรเสริมหมวดความรู้ทั่วไป (general education) ขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย มีการพัฒนาหลักสูตรที่เป็น major-minor เพื่อความเป็นสหสาขาวิชาขึ้น ทุกวันนี้นักศึกษาอาจมีความจำเป็นต้องมีความรู้ลึกไม่ใช่ในสาขาเดียว แต่อาจต้องรู้เพิ่มเติมในสองหรือสามสาขาวิชา ตัวอย่างเช่นนักศึกษาที่ major เคมี อาจจะ minor วิชาชีววิทยา เพราะสนใจทำวิจัยเรื่อง natural product เป็นต้น ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงพยายามสร้างวิชา major-minor ขึ้นนอกจากนี้ในปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ฯ ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมนักศึกษามากขึ้น ซึ่งกิจกรรมนักศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกิจกรรมนอกหลักสูตร เสริมสร้างจริยธรรมจรรยาบรรณ ในการเป็นนักวิทยาศาสตร์อาชีพ ตลอดจนเสริมสร้างความรักและความผูกพันในสถาบันการศึกษา โดยตั้งความหวังว่าการจัดกิจกรรมนักศึกษาอาจมีผลให้นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ฯ บางส่วนที่มักจะย้ายสถาบันการศึกษาหรือสายวิชาชีพเมื่อจบการศึกษาในปีที่ 1 ได้เห็นภาพของอาชีพในสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น และมีความผูกพันกับคณะวิทยาศาสตร์ฯ มากขึ้น ซึ่งก็ได้เห็นผลอย่างชัดเจนว่ามีนักศึกษาลาออกน้อยลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยฯ ในระบบรับตรงมากขึ้น ทำให้ในช่วง 1-2 ปีนี้ มีจำนวนนักศึกษาลาออกเพื่อไปสอบเข้าใหม่ลดน้อยลงมาก อย่างไรก็ตามคณะวิทยาศาสตร์ฯ หวังว่าจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ฯ ในระดับปริญญาตรีจำนวนจะไม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 300 คน แต่คุณภาพจะสูงขึ้นมากในอนาคต และยังมีโครงการต่าง ๆ มากมายที่เอื้อให้การเรียนการสอนระดับปริญญาตรีดีขึ้น ดังนั้นเอกลักษณ์เฉพาะของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ในด้านการเรียนการสอนก็คงไม่ใช่ในด้านปริมาณแต่เป็นด้านคุณภาพมากกว่า โดยมีความหลากหลายของเนื้อหาวิชาที่สอน และอีกสักระยะคงจะมองว่านักศึกษาแต่ละคนที่เข้ามาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาและแม้แต่รายวิชาที่นักศึกษาแต่ละคนปรารถนาด้วยตนเอง เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ คือ ความเป็นสากล เริ่มตั้งแต่มีจำนวนอาจารย์ชาวต่างชาติอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ฯ จำนวนมากพอสมควรมีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีปัจจุบันมีบุคลากรชาวต่างชาติทั้งหมดเกินกว่า 50 คน มีนักศึกษาของเราไปต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา บุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ฯ เองก็มีการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหารือข้อราชการและดำเนินโครงการวิจัยร่วมมากมาย ดังนั้นแนวโน้มในอนาคตคณะวิทยาศาสตร์ฯ จะมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น คณะวิทยาศาสตร์ฯ มีหน่วยวิจัยใหญ่ ๆ ที่มีความร่วมมือกับต่างประเทศหลายหน่วย เช่น หน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า หน่วยวิจัยชีววิทยาของแมลงพาหะ ที่ได้รับความร่วมมือจาก IRD ของประเทศฝรั่งเศสที่มีความร่วมมือกันอย่างจริงจังและเข้มข้น จะเห็นได้ว่าในด้านความเป็นสากลคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีสูงมากและจะสูงมากขึ้นไปอีกในอนาคต เอกลักษณ์เฉพาะอีกประการของคณะวิทยาศาสตร์ฯ คือ การบริการวิชาการ ในเรื่องนี้คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะต่างจากสถาบันอื่นพอสมควร สถาบันอื่นอาจจะเน้นการบริการวิชาการในลักษณะการจัดอบรม การทำวิจัยร่วมกับเอกชน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ ก็มีบ้าง แต่อาจเป็นส่วนน้อย ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการผลักดันการดำเนินการทางด้าน commercialization ของ innovation มากขึ้น
เปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักศึกษา พบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล
ถึงแม้ว่าผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มักจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และมีผลงานวิจัยออกมาในรูปของสิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ (publication) เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่ผลงานวิจัยจะออกมาในรูปของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ผลักดันในส่วนนี้ค่อนข้างมาก มีรูปแบบของการจัดสรรผลประโยชน์ที่ชัดเจน เพื่อเอื้อให้นักวิจัยสามารถนำผลงานวิจัยออกมาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร ความลับทางการค้าหรือลิขสิทธิ์ได้โดยสะดวก มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะวิทยาศาสตร์ฯ มีวิธีการช่วยนักวิจัยในการจดสิทธิบัตรโดยที่อาจารย์/นักวิจัยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ขณะเดียวกันก็มีแนวทางเพื่อเอื้อในการนำสิทธิบัตรเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ โดยผ่านการดำเนินการของศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ เช่น มีการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ มีการสนับสนุนการร่วมลงทุนโดยผ่านทางบริษัท ร่วมทุนสตางค์ จำกัด มีกระบวนการ commercialization of innovation ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างชัดเจน มีการจัดโครงการบันไดเศรษฐีสำหรับนักศึกษาที่สนใจทางด้านธุรกิจ ดังนั้นเอกลักษณ์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ต่อไปข้างหน้าคงมองในรูปของ commercialization of innovation มากขึ้น จึงทำให้การบริการวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ฯ แตกต่างจากของที่อื่นค่อนข้างมาก และหวังว่าจะสร้าง “entrepreneurship culture” ขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้ในอนาคตใกล้ ๆ นี้ การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นได้เพราะคุณภาพของบุคลากรทุกฝ่ายทั้งบุคลากรสายวิชาการและบุคลากรสายสนับสนุน ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างมาก มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เช่น การจัดประชุมการจัดการความรู้และการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการความรู้ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ การจัดกลุ่มกิจกรรมเพื่อระดมและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันไม่ว่าในรูปแบบของการจัดสัมมนาโดยทั่วไป การจัดประชุมสำหรับบุคลากรทุกคน การจัด Science Café การจัดการอบรมแบ่งปันความรู้ในลักษณะ Tips and Tacs การจัดอบรมเพื่อส่งเสริมความสามารถพิเศษในด้านภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ให้บุคลากรอย่างต่อเนื่องการจัด cultural exchange activities กับชาวต่างประเทศ ซึ่งทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรสายสนับสนุนให้ความสนใจร่วมกันจัดเป็นประจำทุกเดือน การจัดกิจกรรมเต้นแอร์โรบิกเพื่อสุขภาพทุกวัน ทั้งหมดดังกล่าวนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ความรู้และพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้แล้วคณะวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้พยายามอบรมและเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับชุมชนทั่วไป เช่น การจัดงาน open house ซึ่งทุกปีจะมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปมาร่วมงานกว่า 6,000 คน การจัดบรรยายพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทินักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าฟังด้วย เป็นต้น คณะวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เพราะตระหนักดีว่าคุณภาพของบุคลากรมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ฯ ดังนั้นในปี 2550 นี้ จึงได้จัดให้เป็น “ปีแห่งการส่งเสริมบุคลากรสายสนับสนุน” เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทุกฝ่ายของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ในด้านของอาคารสถานที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ ก็มีการพัฒนามาเป็นลำดับ โดยเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ก็มีการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ คือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Center of Excellence สำนักงานคณบดี และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ สำหรับการเรียนการสอน ปัจจุบันได้มีการเริ่มก่อสร้างกลุ่มอาคารอีก 3 หลัง คืออาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและชีวภาพการแพทย์ อาคารกิจกรรมนักศึกษา สันทนาการ และศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาและอาคารสัตว์ทดลอง โดยจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2551 และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีตึกใหม่ที่เรียกว่า “Commercialization of Innovation Building” เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการวางแผนเพื่อดำเนินการ
แต่ไม่ว่าจะมีตึกอะไรเกิดขึ้นอีกกี่ตึกกี่อาคารก็ตาม ก็ยังจะพบความร่มรื่นของคณะวิทยาศาสตร์ฯ อยู่เสมอ คณะวิทยาศาสตร์ฯยังคงรักษาคุณลักษณะเฉพาะของการมีป่าในเมืองที่สวยงามร่มรื่นเอาไว้อย่างเหนียวแน่น จนได้รับรางวัลหน้าบ้านน่ามอง และรางวัลพระราชทานพฤกษนครา เหรียญเชิดชูเกียรติ หลายปีติดต่อกันคณะวิทยาศาสตร์ฯ อาจจะเป็นที่แห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ยังมีต้นไม้จำนวนมากที่มีนกกามาอาศัยมากมาย มีสวนป่าสัก มีสวนสุขภาพ และสวนหย่อมที่งดงาม ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ฯ จะรักษาต้นไม้ทุกต้นและหวงแหนไว้ให้สมบูรณ์ตราบนานเท่านาน ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมีหลากหลายด้าน และแต่ละด้านก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเอกลักษณ์เฉพาะเหล่านี้จะได้ถูกพัฒนามากขึ้นไปอีก เพื่อให้คณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นที่พึงปรารถนาของทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่เข้ามาทำงานที่นี่ ในสายบริหาร สายวิชาการ และสายสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่อยู่โดยรอบ หรือสังคมประเทศไทยโดยรวม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นสถาบันที่พึงปรารถนาของทุกคนตลอดไป
ที่มา :
อมเรศ ภูมิรัตน. (2549). คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เอกลักษณ์เฉพาะของสถาบันอันเป็นที่พึงปรารถนา. ใน 48 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2501-2549). (หน้า 57-61). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย.
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล