หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง ผู้ร่วมก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

พ.ศ. 2506 มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้เปิดตัวโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา โดยทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศที่ผ่านการคัดเลือกรวมถึงประเทศไทย โครงการนี้มีชื่อว่า โครงการพัฒนามหาวิทยาลัย (University Development Program: UDP) เป็นโครงการระดับนานาชาติที่มีเงินทุนสนับสนุนจำนวนมาก ในช่วง 16 ปีของโครงการ มูลนิธิฯ ได้ลงทุนไปถึง 125 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อแรกเริ่มนั้น มูลนิธิฯ มีแผนว่าโครงการ UDP จะมีบทบาทส่งเสริมการประสานงานและรวบรวมกิจการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและจากมูลนิธิฯ จึงได้ตกลงสนับสนุนโครงการในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)

ในเวลานั้นประเทศไทยมีแผนพัฒนาที่เน้นความต้องการด้านการฝึกอบรมทางการแพทย์ มูลนิธิฯ เห็นด้วยว่ามีความจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปที่การแพทย์ ในระยะแรกแผนของรัฐบาลไทยได้เตรียมการขยายโรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่แล้วสามแห่ง คือในกรุงเทพสองแห่งและที่จังหวัดเชียงใหม่หนึ่งแห่ง และมีโครงการจะเปิดอีกหนึ่งแห่งที่กรุงเทพและอีกสองแห่งในส่วนภูมิภาค

มูลนิธิฯ ได้ส่ง ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี University of Arkansas, School of Medicine มาเป็นตัวแทนประจำประเทศไทย ทำหน้าที่ประสานงานโครงการ UDP ในกรุงเทพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 จนถึง พ.ศ. 2521 ซึ่งในระยะเวลาไม่นานนี้ ท่านได้กลายเป็นบุคคลสำคัญผู้มีบทบาทอย่างมากในการทำงานร่วมกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไทย

ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นั้น ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดี นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีความเห็นพ้องกันว่าอุปสรรคที่ขวางกั้นการเพิ่มจำนวนแพทย์ที่จบการศึกษาคือ การขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาดีพอที่จะให้สอนวิชาระดับพรีคลินิกแก่ผู้ที่จะเรียนแพทย์ ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางจำนวนมากที่พร้อมจะให้การศึกษาระดับคลินิก โดยหลายคนจบหลักสูตรเฉพาะทางมาจากประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับการอนุมัติจากมูลนิธิฯ ให้เป็นศูนย์กลางโครงการฝึกอบรนักศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งในความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง ที่มีต่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ซึ่งได้ชี้แจงไปยังมูลนิธิฯ เห็นว่า

“...คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์น่าจะเป็นคณะที่ดีที่สุดในบรรดาสถาบันทั้งหลายในประเทศไทย คณะนี้มีชื่อเสียงว่าได้นักเรียนที่เก่งที่สุดในบรรดานักเรียนที่สอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย”

ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง ได้เสนอให้ยกเลิกเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาพรีคลินิกและเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อนักศึกษาจะได้รับการศึกษาจากหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพพื้นฐานแทน คำแนะนำนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะได้ดำเนินไปในแนวทาเดียวกับแผนการศึกษาของประเทศไทยที่เพิ่งประกาศใช้และมุ่งเน้นขยายการศึกษาทางการแพทย์

ศ. ดร.เจมส์ ดินนิ่ง และ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข สองผู้ร่วมก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


คณาจารย์จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ วันเปิดภาคเรียน เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2510
จากซ้าย Prof. Dr. Bryant, Prof. Dr. Stang, Prof. Dr. Bailey, Prof. Dr. Holland, Prof. Dr. Dinning,
Prof. Dr. Schaffer, Prof. Dr. Olsen และ Prof. Dr. Pope

จากการประสานความร่วมมือของ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง และ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ก่อตั้งภาควิชาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จำนวน 6 ภาค ได้แก่ ชีววิทยา เคมี กายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมี จุลชีววิทยา และ สรีรวิทยา นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ฝึกอบรมนักศึกษาพรีคลินิกในด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพพื้นฐานเพื่อเตรียมตัวเรียนแพทย์ด้วย

จากแผนการพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้มีโครงการย้ายสถานที่ทำการจากบริเวณถนนศรีอยุธยาซึ่งเริ่มคับแคบ มายังบริเวณถนนพระรามที่ 6 โดยงบประมาณในการก่อสร้างอาคารตลอดจนอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาจากมูลนิธิฯ ร่วมกับรัฐบาลไทย ซึ่งในช่วงที่โครงการ UDP ดำเนินการนั้น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับทุนเกือบครึ่งหนึ่งจากที่มูลนิธิฯ อนุมัติ (13.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทั้งหมด 25.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับทุนประมาณร้อยละ 85 จากที่มหาวิทยาลัยได้รับ

ในช่วงสองปีแรกของโครงการ (พ.ศ. 2506-2508) ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และ นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง พัฒนาศักยภาพของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนสามารถเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำหรับนักศึกษาไทยและจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังได้วางแผนเปิดหลักสูตรระดับหลังปริญญาเอกสำหรับนักศึกษาจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

แผนการขั้นต่อมาคือการคัดเลือกนักศึกษาไทยจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อไปศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาในต่างประเทศ ในยุคนั้นมีอาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ภาควิชาเคมีเพียง 5 คน ภาควิชาชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์ เภสัชวิทยา และสรีรวิทยา มีภาควิชาละ 1 คน และยังไม่มีใครจบระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาใหม่ ๆ เช่น ชีวเคมี จุลชีววิทยา ทั้งที่สาขาวิชาเหล่านี้มีความสำคัญต่อการศึกษาด้านแพทยศาสตร์มากขึ้น ท่านอาจารย์สตางค์จึงได้เฝ้ามองนักศึกษาที่มีแววตั้งแต่ยังเรียนระดับปริญญาตรี เพื่อเตรียมคัดเลือกให้ได้รับทุนด้วยตนเอง

ในระหว่างที่ดำเนินการคัดสรรนักศึกษาเพื่อรับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ ดินนิ่ง ผู้แทนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้ประสานกับมูลนิธิฯ ในการขอรับศาสตราจารย์อาคันตุกะ มาประจำตามภาควิชาต่าง ๆ ทั้งในระดับผู้สอนและหัวหน้าภาควิชา เป็นการช่วยวางรากฐานการเรียนการสอนและการบริหารจัดการภายในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 จนถึง พ.ศ. 2513 จึงได้เริ่มลดจำนวนเจ้าหน้าที่พิเศษและศาสตราจารย์อาคันตุกะลง เนื่องจากนักศึกษาไทยได้ทยอยเดินทางกลับภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว

Prof. Dr. James A. Olsen ภาควิชาชีวเคมี


Prof. Dr. James S. Dinning (ซ้าย) และ Prof. Dr. William D. Sawyer ภาควิชาจุลชีววิทยา

มูลนิธิฯ ได้ส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในฐานะศาสตราจารย์อาคันตุกะระดับหัวหน้าภาควิชามาประจำที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ประกอบด้วย
Prof. Dr. Robert C. Holland (Anatomy)
Prof. Dr. James A. Olsen (Biochemistry)
Prof. Dr. Walter D. Root (Physiology)
Prof. Dr. Ward W. Moore (Physiology)
Prof. Dr. Russell A. Huggins (Physiology)
Prof. Dr. Albert S. Kuperman (Pharmacology)
Prof. Dr. William D. Sawyer (Microbiology)

มูลนิธิฯ ได้ส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในฐานะศาสตราจารย์อาคันตุกะระดับหัวหน้าภาควิชามาประจำที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ประกอบด้วย
Anatomy : Dr. Hideo Negro
Dr. William P. Callahan III
Dr. Vernon L. Yeager
Biochemistry : Dr. Gordon B. Bailey
Dr. J. Lon Pope
Dr. M.R. Lakshmanan
Chemistry : Dr. W.D.L. Crow
Dr. Ralph C Guile
Microbiology : Dr. Richard J Littleton
Dr. Eugene Rodriguez
Pediatrics : Dr. John H. Bryant
Pharmacology : Dr. Lorne G. Eltherington
Dr. John Raul Bederka Jr.
Dr. John J. McMonigle
Dr. Barbara L. Kennedy
Physiology : Dr. David E. Shafer
Dr. Gordon J. Leitch
Dr. Edwin L. Smith
Library : Dr. Carroll F. Reynolds
English : Mr. Michael Smithies

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จัดส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมีจำนวนสูงสุดคือ 16 คน ใน พ.ศ. 2513 จากนั้นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จึงทยอยเดินทางกลับ แต่ยังคงศาสตราจารย์อาคันตุกะระดับหัวหน้าภาควิชาให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนถึง พ.ศ. 2518 จึงเดินทางกลับทั้งหมด ขณะที่อาจารย์ชาวต่างประเทศเดินทางกลับนั้น อาจารย์ชาวไทยที่จบการศึกษาจากต่างประเทศในระดับปริญญาเอกด้วยทุนการศึกษาของมูลนิธิฯ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามภาควิชาต่าง ๆ แทน

เรียบเรียงจาก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2531). 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2531. กรุงเทพ : ฤทธิ์ศรีการพิมพ์.
วิลเลียม เอช. เบคเกอร์. (2556). การศึกษาเพื่อการพัฒนา. ใน มิตรภาพและความร่วมมืออย่าง สร้างสรรค์ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และประเทศไทย. (หน้า 116-155). นิวยอร์ค : มูลนิธิร็อคกี้ เฟลเลอร์.