หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

บทสัมภาษณ์ อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ณ ห้องสมุดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

อาจารย์เริ่มต้นมาทำงานห้องสมุดได้อย่างไรครับ ทั้งที่อาจารย์เรียนมาทางด้านเคมี

มันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อนะ เหมือนมีใครขีดเส้นชีวิตเราไว้แล้วนั่นล่ะ เริ่มจากที่เป็นอาจารย์ที่โรงเรียนช่างกลปทุมวัน สอนวิทยาศาสตร์ การสอนด้านวิชาการเขาจะสอนกันช่วงเช้า ตอนบ่ายก็จะเรียนช่าง เราก็ว่างตอนบ่ายก็เลยสมัครขอทุนกระทรวงศึกษาธิการไปเรียนต่อที่อังกฤษ ตอนนั้นก็มีแผนไว้ว่าจะไปเรียนภาษาก่อนสักระยะแล้วค่อยหาทางสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยที่นั่น บังเอิญที่สุดที่ไปเจออาจารย์สตางค์ เพราะเราเคยเป็นลูกศิษย์ท่านมาก่อน ตอนไปอังกฤษก็ไม่ได้ไปลาท่านหรอก พอเจอหน้ากันท่านก็ร้องว่า “วิภาวรรณ เธอมาทำอะไรที่นี่” ก็เล่าให้ท่านฟัง ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรสักคำ

ไม่กี่สัปดาห์ท่านก็ติดต่อมาบอกว่าให้แพ็คกระเป๋าไปที่ลิเวอร์พูลเดี๋ยวนี้ เพราะฝากให้เข้าเรียนที่นั่นให้แล้ว เราก็ตกใจสิ ไม่ได้ขออะไรท่านเลยนะ จู่ ๆ ท่านก็ดำเนินการให้เสร็จสรรพ ฝากให้เข้าเรียนที่นั้นเฉยเลย ที่ท่านทำได้เพราะท่านเป็นศิษย์เอกของ professor ที่นั่น ท่านเก่งมาก ทำวิจัยทำอะไรนี่สำเร็จหมด อาจารย์ที่นั่นจึงเชื่อฝีมือ เขาก็มองว่าถ้าอาจารย์เก่งขนาดนี้ลูกศิษย์ก็ต้องเก่งเหมือนกัน แต่เราไม่เท่าอาจารย์เลยแม้แต่น้อย

ตอนนั้นยังเรียนวิทยาศาสตร์อยู่หรือครับ

ใช่ แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ว่าต้องเรียนทาง Education มาด้วย ก็ต้องเรียนมาจนจบ กลับมาเมืองไทยมาเป็นอาจารย์ที่ปทุมวันตามเดิม ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ได้สักพักก็เริ่มคิดว่าที่ทำอยู่มันไม่ค่อยเกิดผลเท่าไหร่ หน้าที่หลักคือการอบรมครูสอนวิทยาศาสตร์ แต่ระบบหรือโครงสร้างยังไม่อำนวย ทำให้เหมือนกับเสียเวลาไปเปล่าๆ ตอนนั้นก็อาจารย์สตางค์อีกนั่นล่ะที่บอกว่าต้องการคนเรียนวิทยาศาสตร์ให้ไปตั้งห้องสมุดให้ท่าน

แต่ยังไม่มีพื้นฐานห้องสมุดเลยนี่ครับ

ใช่ เราก็เรียนท่านไปว่าไม่มีความรู้ทางนี้เลย ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ท่านก็บอกว่า ไม่เป็นไร ไปอบรมสัก 3-4 เดือน ก็ได้แล้ว แต่ปัญหาคือเราจะไปยังไง เพราะตอนนั้นยังอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ท่านก็บอกว่าให้ไปเรียนขออนุญาตท่าน มล.ปิ่น มาลากุล ตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการ ก็ไปเรียนท่าน ซึ่งก็ได้รับอนุญาต เพราะทำงานใช้ทุนให้กระทรวงหมดแล้ว

รวดเร็วขนาดนั้นเลยหรือครับ

เข้าใจว่าอาจารย์สตางค์ท่านคงติดต่อไว้บ้างแล้วกระมัง พอได้รับอนุญาต อาจารย์สตางค์ท่านว่า ก็ต้องรีบละ เพราะจะต้องรีบตั้งห้องสมุด แต่พอจวนถึงวันเดินทาง ท่านเอาใบสมัครมาให้เขียนไปเรียน ป.โท ก็ตกใจ เรียนท่านไปว่าไม่ไปแล้ว เรียนโทตั้งปี นานไป มีภาระทางบ้าน ท่านก็ว่าเธอไปก่อนเถอะ ก็เลยต้องจำยอม ปฏิเสธไม่ได้

ตอนนั้นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เริ่มเปิดสอนแล้ว

แต่ตอนนั้นห้องสมุดเพิ่งเริ่มงาน มี Dr. Carroll F. Reynolds จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation : R.F.) เป็นคนจัดการ พอไปเรียนได้ยังไม่ครบปี Dr. Reynolds ก็ใกล้ถึงกำหนดต้องกลับ อาจารย์สตางค์เลยบอกให้รีบกลับมารับงานห้องสมุด โดยให้มาทำ Individual Research กับ Dr. Reynolds พอทำเสร็จท่านก็ตรวจแล้วส่งผลไปอเมริกา ทางโน้นก็ส่งใบปริญญาใส่กระบอกมาให้เราถึงเมืองไทย

ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์และบุคลากรห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
ในพิธีทำบุญครบรอบปีที่ 61 ของการก่อตั้ง และ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข
วันที่ 2 มีนาคม 2562 ณ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

แล้วก็เริ่มทำห้องสมุดอย่างเต็มตัว

ใช่เลย แต่อยากเล่าว่าตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินไปเรียน กลับมาก่อนเวลา มาอยู่คณะวิทย์ มาทำงานไปด้วย ทำ Research ไปด้วย จนได้รับปริญญา ตลอดเวลาดังกล่าวได้รับเงินเดือนจากกระทรวงศึกษาธิการ มารับเงินเดือนคณะวิทยาศาสตร์เมื่อท่านอาจารย์ให้มารับตำแหน่งประจำที่ภาควิชาเคมี เป็นความมหัศจรรย์อีกครั้งหนึ่งที่ท่านจัดการได้

ในการปฏิบัติงานห้องสมุด ไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร อาจารย์สั่งด้วยวาจาว่า “ทำห้องสมุดให้เหมือนเมืองนอก” เท่านั้น การที่ท่านให้คนเรียนวิทยาศาสตร์มาทำห้องสมุดสาขาวิทยาศาสตร์ เป็นการมองไกลมาก เป็นแนวคิดที่ใหม่มากในตอนนั้น

แต่เดิมผู้จะเรียนปริญญาเอกต้องไปเรียนต่างประเทศ R.F. เชื่อมือท่านมาก ให้จัดการสอน ป.โท ป.เอก หลายสาขา นักศึกษาปี 3-4 ให้เรียนทางพรีคลินิก แล้วจึงไปต่อทางวิชาแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี R.F. ต้องการให้ฝึกให้ผู้จะเรียนแพทย์รู้จักทำการวิจัยก่อนจะเป็นแพทย์ ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรการแพทย์แต่เดิม ตอนนั้นมีทุน SEATO ได้ส่งนักศึกษาจากรอบๆ ประเทศเรา เช่น ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเรียนที่เรา ทำให้ต้องบริการนักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ชาวต่างประเทศด้วย

ในยุคแรก ร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นผู้จัดหาให้ทุกอย่างหรือครับ

R.F.สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือจัดส่งหนังสือ วารสาร อุปกรณ์ต่างๆ แม้แต่รถเข็นหนังสือก็ส่งมาให้จากอเมริกา ห้องสมุดมีชั้นวารสารเป็นไม้ แต่คณะจัดหาให้ อาจารย์ฝรั่งชอบใจมากๆ กับชั้นไม้ เมื่อย้ายห้องสมุดเดิมจากตึกเก่าถนนศรีอยุธยา มีหนังสือจำนวนมาก มีผู้ช่วยสองคน คนทำความสะอาดสองคน อาจารย์ท่านจะเดินเข้ามาดูที่ห้องสมุดบ่อยๆ เดินคาบไปป์เข้ามา ต้องการอะไรก็เรียนท่านช่วงนี้

นอกจากหนังสือและวารสารแล้ว สิ่งพิมพ์ที่จำเป็นเพื่อการเรียนการสอนระดับสูงและการทำวิจัยคือ หนังสือประเภท Index และ Abstract ทั้งหลาย เช่น Index Medicus Science Citation Index R.F. จัดหามาให้ นอกจาก Chemical Abstract ซึ่งทางสาขาเคมีเป็นผู้ใช้ ราคาแพงมาก อาจารย์สตางค์ท่านสะสมมาตั้งแต่เล่มแรก Volume 1 และ Chemical Abstract มี Index ช่วยค้นหลายชนิด ซึ่งเรามีครบถ้วน ทำให้นักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพและภูมิภาคมาใช้ค้นที่เรา จึงเป็นชื่อเสียงที่สำคัญของห้องสมุดสาขาวิทยาศาสตร์

แล้วเริ่มเปิดใช้อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

ก็เริ่มพร้อม ๆ กับที่เปิดสอนตอนที่ย้ายมาที่พระรามที่ 6 นี่ล่ะ ถ้าจะนับอย่างเป็นทางการจริงๆ ก็น่าจะเป็นวันเปิดตึก คือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิดตึก ทีนี้พระองค์ท่านจะต้องทรงลงพระปรมาภิไธย อาจารย์สตางค์ก็เลือกว่าให้ใช้ที่ห้องสมุด อาจารย์มีความคิดที่ว่าถ้าการเรียนการสอนระดับ ป.โท-เอก ห้องสมุดต้องมีความสำคัญ ทุกอย่างที่อาจารย์คิดว่าจะเป็นกำลังใจให้ อาจารย์ทำให้หมด แต่ตอนนั้นก็ยังมองไม่ออก แต่คิดดูซิว่าให้ความสำคัญเลือกเป็นสถานที่ให้ในหลวงเสด็จฯ มาลงพระปรมาภิไธยในห้องสมุด จึงมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เป็นห้องสมุดแห่งเดียวที่มีพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ประทับใจมาก ตึกก็มีหลายตึก แล้วทำไมอาจารย์จึงให้ใช้สถานที่ที่ห้องสมุด เวลามีชาวต่างชาติมาเยี่ยมคณะวิทย์ฯ อาจารย์สตางค์ก็จะต้องพามาดูห้องสมุด ขนาดที่ว่ายังไม่มีอะไรมาก ท่านก็ยังต้องพามาห้องสมุด เขาจะว่ากระจอกยังไงก็ช่าง

บรรยากาศในช่วงนั้นเป็นอย่างไรครับ

นักศึกษาปี 1-2 ช่วงนั้นยังเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีศาลายา ก็มาใช้ห้องสมุดกันเยอะมาก ยิ่งช่วงสอบนี่จะมากันเต็มเลย นั่งตามพื้นก็มี สมัยนั้นที่เขาให้นักศึกษาปรีคลินิกปีหนึ่งปีสองมาเรียนที่เราก็เพื่อสอนให้เด็กรู้จักการทำวิจัย ระบบเดิมจะเน้นสอนให้จบเป็นแพทย์ ไม่ได้เน้นให้ทำวิจัย แต่ร็อกกิเฟลเลอร์มองว่าควรจะเน้นให้รู้จักทำการวิจัย จึงมาเริ่มสอนกันตั้งแต่ปีหนึ่งปีสองปรีคลินิก อาจารย์เป็นฝรั่งหมด นักศึกษาเก่งกันมาก เราก็ต้องเตรียมหนังสือ วารสารตามที่เขาต้องการให้ครบ

เริ่มนับตั้งแต่ศูนย์ ทำมาเรื่อยยี่สิบปี ทุกอย่างก็เริ่มพัฒนาขึ้น แรกเริ่มเดิมทีแล็บต่างๆ จะมีห้องสมุดของเขาเอง ซึ่งจริงๆ น่าจะมารวมกับห้องสมุดกลาง แต่ตอนบอกไปทีแรกก็ไม่มีใครยอมรวม เราก็ไม่ว่าอะไร เราก็ทำของเราไป นานเข้าทางเขาก็ไม่มีคนดูแล สุดท้ายเขาก็ต้องยกมาให้เราเอง ไม่ต้องดิ้นรนเลย ด้วยความที่เราก้มหน้าก้มตาทำของเรา ทุกคนเขามาใช้บริการ อาจารย์ผู้ใหญ่ก็เห็นว่าห้องสมุดเป็นอย่างไร ก็เห็นผลงานและเข้าใจว่าควรจะต้องให้เป็นระบบที่ถูกต้อง

ที่โดดเด่นที่สุดของเราในยุคนั้นคือเรามีสิ่งพิมพ์ประเภท Index Abstract ครบถ้วน ช่วงนั้นนักศึกษาทั่วไปก็ค้นยังไม่เป็น เวลาใช้ก็จะรื้ออกมาจากชั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งแนะนำให้ใช้ระบบใส่ตัวเลข เรียงตามตัวเลข ง่ายดี แต่คนเก็บนี่เหนื่อย มาค้น Index นี่เยอะสุดเพราะเรามีที่เดียว สิ่งพิมพ์ทรัพยากรของเรามีครบถ้วน แต่ถ้าค้น paper แล้วเราไม่มี เฉพาะผู้ใช้ของคณะวิทยาศาสตร์เราจะให้บริการหาว่ามีที่ไหน ก็จัดคนไปตาม ยืมระหว่างห้องสมุดมาให้ สมัยก่อนก็ได้แค่ในประเทศ ต่อมาจึงค่อยมี SEAMIC สำหรับขอต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามีเท่าที่จำเป็นต้องมีและต้องใช้ มีเพียงพอที่จะให้บริการตามหลักสูตรที่คณะสอน ทำให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็มาใช้ด้วย เพราะค่าบอกรับเป็นสมาชิกแพง นักศึกษาที่อื่นจึงได้อานิสงส์ด้วย เค้าถือว่าห้องสมุดเราเป็นห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ที่มีทรัพยากรให้บริการตามความต้องการได้เกือบสมบูรณ์

เห็นว่าสมัยนั้นมีห้องสมุดเล็กด้วย

สมัยก่อนมีห้องสมุดของนักศึกษาเขาทำเอง คือบอกเขาว่าเราเป็นห้องสมุดวิชาการ สิ่งพิมพ์ทั้งหลายแหล่ที่ไม่เกี่ยวกับวิชาการเราก็ไม่มีเวลาจะทำให้ ก็จึงมีห้องสมุดที่นักศึกษาเขาดำเนินการเองอะไรที่เขาอยากได้ก็จัดการหามาเอง มีหนังสือเยอะแยะ พอถึงตอนนั้น (เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) พวกทหารก็เข้ามากวาดไปหมด แต่หนังสือมันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรอก บังเอิญว่ามันเป็นไปตามสถานการณ์มากกว่า

ความประทับใจที่สุด

คือความเมตตาของท่านอาจารย์สตางค์ ทำงานที่นี่แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ทั้งที่เริ่มกันตั้งแต่ศูนย์ ต้องการอะไรก็เรียนท่าน ท่านให้ความสำคัญกับห้องสมุดมาก ย้ำเสมอว่าต้องทำห้องสมุดให้เหมือนเมืองนอกนะ เนื่องจากห้องสมุดมีห้องน้ำอยู่ด้านหน้า คนงานของห้องสมุดสองคนคือ ฉลวย กับ คำมูล ซึ่งย้ายมาจากตึกเก่าเล่าให้เราฟังเมื่อมาทำงานใหม่ๆ ว่า อาจารย์สตางค์ท่านเข้ามาขัดห้องน้ำให้ดูเป็นตัวอย่าง ว่าจะให้สะอาดเอี่ยมต้องทำอย่างไร (เพราะคนทำความสะอาดสมัยก่อนไม่เหมือนปัจจุบันที่เป็นคนของบริษัทที่ได้รับการอบรมมาแล้ว) ลองคิดดูว่ามีคณบดีที่ไหนในเมืองไทยหรือในโลก ที่จะมาขัดห้องน้ำให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอนเราว่าต้องทำทุกอย่างทุกเรื่องให้ดีที่สุด ซึ่งเราก็ยังนึกไม่ถึง

ทุกเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความประทับใจสูงสุด แม้เมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว ด้วยความกตัญญูต่อท่านทั้งในฐานะอาจารย์และฐานะผู้บังคับบัญชา เราจึงทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อชื่อเสียงให้แก่ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จนถึงเวลาเกษียณอายุ