จัดตั้งหน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
หลักการและเหตุผล
ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีภารกิจด้านการวิจัย เพื่อการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้แก่สังคม และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง เป็นสถานศึกษาที่ผลิตบัณฑิต ในระดับปริญญาโท-เอก เพื่อเป็นอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้แก่สถาบันการศึกษาอื่น และผลิตบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญด้านการวิจัยของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ
ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์มีคณาจารย์และนักวิจัย จำนวน 438 คน จาก 14 ภาควิชา มีโครงการบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาเอก 15 หลักสูตร มีนักศึกษาจำนวน 142 คน ระดับปริญญาโท 19 หลักสูตร มีนักศึกษาจำนวน 631 คน และระดับปริญญาตรี 7 หลักสูตร มีนักศึกษาจำนวน 1,144 คน คณาจารย์และนักวิจัย ได้ผลิต ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับ โดยได้เผยแพร่ผลงาน ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวนมากกว่า 2,000 บทความ มีนักวิจัยที่สร้างชื่อเสียง และได้รับการสดุดีเกียรติคุณ จากสถาบันสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 17 รางวัล รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม และรางวัลประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จำนวน 15 รางวัล รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทั้งประเภทสถาบัน และประเภทบุคคล) จำนวน 4 รางวัล ทุนส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิจัย เช่น ทุนเมธีวิจัยอาวุโส และทุนนักวิจัยอาวุโส จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนทุนวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวนมากกว่า 19 ทุน เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2544 นี้ คณะวิทยาศาสตร์จะเริ่มดำเนินงาน หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เน้นงานวิจัยในลักษณะสหวิทยาการ ผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่างสาขาเข้าด้วยกัน เพื่อการทำงานร่วมกัน ปรับกลยุทธ์การวิจัยในเชิงรุก โดยใช้ระบบบริหารจัดการแนวใหม่ ผลักดันให้เกิดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ที่สามารถก่อประโยชน์ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศชาติ ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น สามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ และขยายการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเอกชนให้มากขึ้น สอดคล้องตาม แผนกลยุทธ์ 15 ปี ของคณะวิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2545-2559) และ แผนกลยุทธ์ 15 ปี ของมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2545-2559) ซึ่งมีพันธกิจด้านการวิจัยในการส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดผลงานวิจัยในระดับสากล เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และประยุกต์ใช้ที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้าง ผลงานวิจัยพื้นฐาน และวิจัยประยุกต์ระดับสากลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ตามพันธกิจด้านการวิจัยดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้หลายประการ และยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การพัฒนาระบบบริหารที่เอื้อต่องานวิจัย โดยใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบสารสนเทศงานวิจัย ให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน สนับสนุนการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยให้มีประสิทธิภาพ
เพื่อให้การบริหารงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ สัมฤทธิ์ผลตามแนวทางที่วางไว้ คณะวิทยาศาสตร์ได้เล็งเห็นว่า ระบบบริหารจัดการสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่มีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการสนับสนุนและเอื้อประโยชน์ต่อการวิจัย โดยเฉพาะต้องมีระบบบริการที่สมบูรณ์แบบ ทำหน้าที่ บริการสารสนเทศเพื่อการวิจัยให้แก่กลุ่มผู้ทำวิจัย วิเคราะห์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจให้แก่คณะผู้บริหาร และเผยแพร่สารสนเทศผลงานวิจัย ออกสู่สังคมทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ ได้อย่างครบวงจร
เนื่องจาก สารสนเทศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปัจจุบัน มีปริมาณมาก หลากหลาย และ อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก จึงมีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยมีพื้นฐานการกระจายสารสนเทศ บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สารสนเทศเพื่อการวิจัยมีทั้งที่เป็น บริการทางการค้า (Commercial) และ สารสนเทศที่เป็นบริการแบบสาธารณะ (Public) สามารถแพร่กระจายไปยังหน่วยงาน และบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการวิจัย และสนับสนุนการวิจัยได้หลายทิศทาง ดังนั้น หากนักวิจัยและผู้บริหารการวิจัย ไม่มีกลยุทธ์ในการนำสารสนเทศที่มีคุณภาพและถูกต้องแม่นยำ มาใช้ประโยชน์ให้ทันการณ์ จะทำให้เกิดการเสียเปรียบในการแข่งขัน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสียเปรียบดุลการค้าระหว่างประเทศโดยเปล่าประโยชน์ หากไม่สามารถใช้สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการวิจัยที่จัดหามาด้วยราคาแพง ได้อย่างคุ้มค่ากับการลงทุน ในทางตรงกันข้าม หากสามารถใช้กลยุทธ์ ในการบริหารจัดการสารสนเทศที่เหมาะสม วางแผนการคัดสรรและเลือกใช้สารสนเทศ ที่จัดหามาแล้วได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว คุ้มค่าต่อการลงทุน และเชื่อถือได้ ย่อมก่อประโยชน์ต่อการวิจัย และสนับสนุนการวิจัยได้มากยิ่งกว่า
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ตกต่ำมาก ถึง 3 ปีติดต่อกัน ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันนานาประเทศ โดยองค์กร International Institute for Management Development (IMD) ที่จัดทำขึ้น ในปี พ.ศ. 2542 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 46 ในปี พ.ศ. 2543 อยู่ในลำดับที่ 47 จาก 47 ประเทศ และในปี พ.ศ. 2544 อยู่ในลำดับที่ 49 จาก 49 ประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ประกาศ โครงการจัดทำวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์แห่งชาติ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2543-2563 โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไว้ 6 ด้าน
และหนึ่งในหกนั้นคือ ยุทธศาสตร์ด้านสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการใช้ดัชนีวิทยาศาสตร์ (Science and Technology Indicators) เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์และกำกับทิศทาง มีมาตรฐานในการจัดเก็บสารสนเทศ และมีสารสนเทศที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อให้พร้อมรับการตรวจสอบขีดความสามารถในการแข่งขัน ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งต่อไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องร่วมรับผิดชอบ และให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของประเทศ โดยมีมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งเร่งปรับปรุงปริมาณและคุณภาพ ของผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ และผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งเป็นดัชนีในการวัดระดับการวิจัยพัฒนา และวางนโยบายด้านการวิจัยให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
ด้วยเหตุผลความจำเป็นดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์จึงเห็นสมควรจัดตั้ง หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์" (Center of Scientific Information Resources - CSIR) ขึ้นเป็นหน่วยงานสนับสนุน การบริการทางวิชาการและวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่โดยตรงในการ
- พัฒนาสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสารสนเทศ เพื่อการวิจัยจากทั่วโลก ค้นหา วิเคราะห์ และให้บริการสารสนเทศแก่นักวิจัย โดยใช้การสื่อสารในเชิงรุก เพื่อกระจายข่าวสารไปอย่างรวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก (Information Communication Technology)
- จัดทำระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัย ฐานข้อมูลองค์ความรู้และภูมิปัญญาของนักวิจัย สรุปผลและจัดทำดัชนีบ่งชี้ (Bibliometric Indicator) ให้แก่ผู้บริหารเพื่อใช้กำหนดนโยบายทิศทางการวิจัย
- ให้บริการ สารสนเทศ ผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์สู่สังคม ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์
- เป็นศูนย์กลางติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านสารสนเทศ ในกลุ่มนักวิจัยและกลุ่มผู้สนับสนุนการวิจัย ให้ความรู้และฝึกอบรมวิชาการสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์
- ทำการวิจัยทางด้านสารสนเทศเพื่อนำผลวิจัยมาใช้ในการพัฒนา เป็นหน่วยงานกลางของคณะวิทยาศาสตร์
- ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานด้านสารสนเทศกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายในมหาวิทยาลัย อาทิ สำนักคอมพิวเตอร์ สำนักหอสมุด กองบริหารงานวิจัย ฯลฯ และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย อาทิ กลุ่มภาคีความร่วมมือ (Consortium) ระหว่างคณะวิชาวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ หน่วยงานภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอิสระ ที่รับผิดชอบสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชาติ
- ทั้งนี้ หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จะดำเนินงานโดยใช้ระบบบริหารจัดการสารสนเทศ ที่มีการควบคุมคุณภาพ (Total Quality Management) เพื่อสร้างงานบริการที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐานระดับสากล และมีพัฒนาการที่ยั่งยืน
ขอบข่ายการดำเนินงาน
- พัฒนาสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
- ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าทางวิทยาการ ด้านสารสนเทศวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ต ศึกษาข้อเท็จจริง วิเคราะห์ สำรวจ และรวบรวมแหล่งสารสนเทศ ที่เป็นประโยชน์และมีความจำเป็นต่อการพัฒนางานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์จากสารสนเทศเพื่อการวิจัย อาทิ วารสารวิชาการ เอกสารสิทธิบัตร และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ที่บอกรับ หรือจัดทำโดยมหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัย และภาคีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ (Consortium) ให้เต็มประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับการลงทุน
- วิเคราะห์ สรุปผล กระจายข่าวสารสนเทศ ไปยังบุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สารสนเทศ และหาแนวทางแก้ไข
- เป็นศูนย์กลางประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การใช้สารสนเทศ ในกลุ่มนักวิจัยและกลุ่มผู้สนับสนุนการวิจัย เพื่อสร้างคลังภูมิปัญญาทางวิชาการด้านสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ และร่วมมือกันในการพัฒนาสารสนเทศเพื่อการวิจัยให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม
- ให้บริการสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
- เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อประสานงานการบริการสารสนเทศงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์
- ให้บริการสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์โดยเน้นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการใช้สารสนเทศ ไปสู่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ทุกระดับ อาทิ อาจารย์ นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย นักศึกษา รวมทั้งฝ่ายสนับสนุนการวิจัย ให้ได้รับการบริการอย่างทั่วถึง และมีความต่อเนื่อง
- บริการให้คำปรึกษา (Counselling) และช่วยเหลือทางวิชาการด้านสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เช่น E-mail และ Web-based รวมทั้งบริการตอบคำถามสายด่วน (HotLine) ทางโทรศัพท์
- ให้บริการสารสนเทศงานวิจัยในเชิงสรุปวิเคราะห์แก่คณะผู้บริหาร เพื่อใช้ในการศึกษาผลการวิจัย และติดตามแนวโน้มของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และอำนวยประโยชน์ต่อการบริหารงานวิจัยในเชิงรุก
- ให้บริการสารสนเทศแก่บุคคลภายนอกหรือหน่วยงานภายนอก ทั้งสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และบริการตอบข้อซักถามให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อมูลผลงานวิจัย และข้อมูล นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์
- ให้บริการรวบรวม วิเคราะห์ ตรวจสอบ และจัดทำรายงานผลการวิจัย มาตรฐานของผลงานวิจัย และติดตามการอ้างอิงผลงานวิจัย เพื่อใช้ประกอบการแข่งขันจัดอันดับ หรือประเมินผลงานทางวิชาการ โดยเน้นคุณภาพของผลงานบริการที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และมีมาตรฐานสูง
- ให้บริการสารสนเทศแก่นักวิจัยของคณะ หรือนักวิจัยอาคันตุกะจากต่างสถาบัน หรือจากต่างประเทศ ที่ได้รับเชิญมาร่วมวิจัยหรือประชุมวิชาการ โดยอำนวยความสะดวกสถานที่ในลักษณะห้องรับรองหรือห้องอ่านหนังสือ มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการค้นคว้า และมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและมีบรรยากาศการวิจัย
- ฝึกอบรม ให้ความรู้ และพัฒนาทีมงานสารสนเทศวิทยาศาสตร์
- จัดการฝึกอบรมและสัมมนา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิจัยทุกกลุ่ม อาทิ อาจารย์ นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ทำโครงการวิจัย นักศึกษาวิทยาศาสตร์ รวมทั้งบุคลากรฝ่ายสนับสนุนการวิจัย และเจ้าหน้าที่ธุรการของภาควิชา/หน่วยงานต่างๆ โดยมีแผนการฝึกอบรมเป็นลำดับขั้นตอนและต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อให้มีพื้นฐานความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากสารสนเทศอย่างเต็มที่ และติดตามความก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
- จัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานของหน่วยสารสนเทศฯ ในลักษณะการเรียนรู้ร่วมกัน (Team Learning) และจัดทำแผนการเรียนรู้รายบุคคล และแผนการพัฒนาบุคลากรระยะยาว
- เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นวิทยากร และเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการของหน่วยงาน
- จัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรผู้ปฎิบัติงานทางด้านบริการสารสนเทศวิทยาศาสตร์ (Training & Staff Development Service) ให้แก่หน่วยงานอื่น
- จัดการพัฒนาอาสาสมัครหรือนักศึกษาช่วยงาน ที่มีความสนใจสารสนเทศวิทยาศาสตร์ ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง หรือครูฝึก (Mentoring & Coaching) เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ให้แก่กลุ่มนักศึกษาด้วยกัน
- ประสานงานกับภาควิชา ในการแทรกความรู้ด้านสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ทั้งระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา
- จัดทำระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัย และฐานข้อมูลภูมิปัญญานักวิจัย
- เป็นหน่วยงานกลางในการจัดเก็บรวบรวมผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยจัดเก็บเอกสารฉบับเต็ม และทำการแปรสภาพให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกในการจัดทำฐานข้อมูล การค้นคืน และการเก็บรักษา (Preservation and Digitization)
- จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัย ฐานข้อมูลทำเนียบนักวิจัย และฐานข้อมูลองค์ความรู้และภูมิปัญญานักวิจัย (Knowledge Base System)
- วิเคราะห์สถิติผลงานวิจัย และจัดทำดัชนี (Bibliometric Indicators) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางการวิจัย โดยใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล และใช้มาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูลเดียวกัน กับหน่วยพัฒนาระบบสารสนเทศกลาง (Data Warehouse) ระดับชาติ เพื่อให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ ด้านสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์
- ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ในการประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน
- ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ในการประชาสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ เผยแพร่ผลงานการวิจัย การประดิษฐ์คิดค้น ให้แก่หน่วยงานเอกชน บริษัท โรงงานต่างๆ เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
- ทำวิจัยทางด้านสารสนเทศวิทยาศาสตร์
- จัดทำโครงการวิจัยทางด้านสารสนเทศวิทยาศาสตร์ และนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา งานด้านสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Research & Development) ทั้งในระดับคณะ ระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ
- ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ติดต่อประสานงาน และให้ความร่วมมือด้านสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักคอมพิวเตอร์ สำนักหอสมุด กองบริหารงานวิจัย เป็นต้น
- ติดต่อประสานงาน และให้ความร่วมมือด้านสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ กลุ่มภาคีความร่วมมือ (Consortium) ระหว่างคณะวิชาวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ หน่วยงานภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรต่างๆ ที่รับผิดชอบสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชาติ