งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

"ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" และ "พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข"

ใช้ชื่อเพื่อเป็นเกียรติและแสดงความรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บุกเบิกมหาวิทยาลัยวิจัยที่สำคัญที่สุดของวงการวิทยาศาสตร์ไทย

สถานที่ตั้ง

งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ตั้งอยู่ที่ตึกฟิสิกส์ (ตึก P) ชั้น 1, 2 และ 3 เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ให้บริการสนเทศทางวิชาการทุกประเภท เพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยและการเรียนรู้ด้วยตนเอง ชั้น 1 เป็นสถานที่ตั้งของ "หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางวิชาการ" (Academic Information Technology) ชั้น 2 และ 3 เป็นห้องสมุดของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้ชื่อว่า "ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรกและผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์

"ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" นับเป็นห้องสมุดวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับแนวหน้าแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งนอกจากให้บริการสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือตำราและวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว ยังให้บริการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภท E-Databases, E-Journals, E-Books ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ ให้บริการสืบค้นทรัพยากรห้องสมุดผ่านระบบเครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University Library Online Catalogs) บริการคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้นด้วยตนเองจากอินเตอร์เน็ต บริการเครือข่ายไร้สายสำหรับผู้ใช้บริการที่นำเครื่องคอมพิวเตอร์มาเอง บริการให้คำปรึกษา สอน และฝึกอบรมเทคนิคการสืบค้นสารสนเทศทางวิชาการสาขาวิชาต่าง ๆ

ภายในห้องสมุดบริเวณชั้น 2-3 เป็นสถานที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข" และ "หอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น (Hall of Fame)" ซึ่งจัดสร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์เอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของคณะวิทยาศาสตร์เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์และนำชื่อเสียงมาสู่คณะฯ นอกจากนั้น ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ "หน่วยสารสนเทศงานวิจัย (RIR)" ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้อง K527 ชั้น 5 อาคารเฉลิมเพระเกียรติ ทำหน้าที่พัฒนาสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จัดทำฐานข้อมูล จัดเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์คุณภาพผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ท่านสามารถเยี่ยมชมและใช้บริการ "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ https://stang.sc.mahidol.ac.th

รายนามหัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

อาจารย์วิภาวรรณ  มนุญปิจุ

อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ

วท.บ. (เคมี), อนุครุศาสตร์ (จุฬา), M.Sc. (Chemistry), Dip. in Ed. (Univ. Liverpool), M.Ls.
(ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2511-2530)

นางสาวศรีพันธุ์  พิพัฒพันธุ์

นางสาวศรีพันธุ์ พิพัฒพันธุ์

ศศ.บ. (เกียรตินิยม), อ.ม.
(ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2531-2532)

นางสาวภัควดี  สงเคราะห์

นางสาวภัควดี สงเคราะห์

ศศ.บ., กศ.ม.
(ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2532-2537)

นางสาวฉวีวรรณ  สุวรรณรัฐ

นางสาวฉวีวรรณ สุวรรณรัฐ

ศศ.บ., อ.ม.
(ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2537-2545)

นางสาวจันทนี  พงษ์เจริญ

นางสาวจันทนี พงษ์เจริญ

M.Ls
(รักษาการ : ธันวาคม 2545- กุมภาพันธ์ 2546)

นางรุจเรขา  วิทยาวุฑฒิกุล

นางรุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล

วท.บ. (เทคนิคการแพทย์), วท.ม. (อายุรศาสตร์เขตร้อน), ปร.ด. (สารสนเทศศาสตร์)
(ดำรงตำแหน่ง 1 มีนาคม พ.ศ. 2546 - 19 ธันวาคม 2554)

นางสาววรัษยา  สุนทรศารทูล

นางสาววรัษยา สุนทรศารทูล

วท.บ. (สัตววิทยา), วท.ม. (วิทยาศาสตร์สภาวะแวดล้อม)
(ดำรงตำแหน่ง 20 ธันวาคม 2554-2563)

นางสาวเฉิดฉันทร์  ราชบุรณะ

นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ

ศศ.บ. (บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์)
(รักษาการ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562 – 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และดำรงตำแหน่ง 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน)

นายพิชิต ลีรุ่งนาวารัตน์

นายพิชิต ลีรุ่งนาวารัตน์

วท.บ. (วิทยาการคอมพิวเตอร์)
(รักษาการ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563)

นายสมภพ แสนสมบูรณ์สุข

นายสมภพ แสนสมบูรณ์สุข

ศศ.บ. (บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์), วท.ม. (เทคโนโลยีสารสนเทศ)
(รักษาการ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 – 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564)

ทศวรรษที่ 1 ยุคเริ่มต้น (พ.ศ. 2501-2510)

พ.ศ. 2501

ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2501 ในนาม ห้องสมุดโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์

พ.ศ. 2503

โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ห้องสมุดจึงปรับเปลี่ยนชื่อตามเป็น ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์

พ.ศ. 2511

สถานที่ตั้งเดิมของห้องสมุดอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริเวณถนนศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนเมื่อคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ย้ายสถานที่มายังบริเวณ ถนนพระรามที่ 6 ห้องสมุดจึงย้ายที่ทำการมายังชั้นที่ 2-3 ตึกฟิสิกส์ เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 จากซ้าย ดร.ดินนิ่ง ผู้แทนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์, จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล, ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Dr. Carroll F. Reynolds บรรณารักษ์จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (ที่มา : ภาพพระราชทาน จากสำนักราชเลขาธิการ)

ในระยะเริ่มแรกเมื่อยังเป็นห้องสมุดโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ห้องสมุดมีเพียงตำราวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 เมื่อเปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาเคมี จึงเริ่มมีตำราทางเคมีชั้นสูงและวารสารวิชาการ โดยมี อาจารย์สุรางค์ (ประกาศิต) ธนพงศ์พัฒน์ จากภาควิชาภาษาต่างประเทศ ช่วยดูแลเป็นครั้งคราว ห้องสมุดแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งจัดเก็บตำราวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดหมวดหมู่ตามระบบทศนิยมดิวอี้ ส่วนที่สองจัดเก็บวารสารและตำราทางเคมี สำหรับนักศึกษาแผนกเคมี ชั้นปีที่ 3-4 จนเมื่อย้ายมายังสถานที่ใหม่จึงได้รวมตำราและวารสารทั้งหมดเข้าด้วยกันและจัดระบบหมวดหมู่ใหม่

พันธกิจสำคัญของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์คือ การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพระดับปริญญาตรี ระดับปรีคลินิกสำหรับนักศึกษาแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระดับปริญญาโทและเอกสาขาต่าง ๆ เพื่อให้การเรียนการสอนมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล จำเป็นต้องมีห้องสมุดที่ได้มาตรฐานสำหรับสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงประสานกับ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เพื่อขอความช่วยเหลือและสนับสนุนการจัดตั้งห้องสมุดในระยะแรกเริ่ม โดยส่งผู้เชี่ยวชาญสองท่านมาช่วยวางนโยบายการจัดการห้องสมุด ได้แก่ Dr. Carroll F. Reynolds (1 กรกฎาคม 2510 – 8 สิงหาคม 2511) และ Mr. James W. Barry (12 กรกฎาคม 2511 – 1 สิงหาคม 2512) พร้อมทั้งมอบทุนสนับสนุนเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ตำรา หนังสืออ้างอิง วารสารวิชาการ เป็นเงิน 100,000 เหรียญ

นอกจากนี้ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บรรณารักษ์ จำนวน 5 ท่าน และได้กลับมาปฏิบัติงานที่ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ท่าน ประกอบด้วย นางวิภาวรรณ มนุญปิจุ นางญาดา (สถลสุต) สกุลรัตนะ นางลดาวัลย์ ศรีธวัช ณ อยุธยา และ นางพูนสิน (วีระประเสริฐ) วงศ์กลธูต

ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ขวาสุด) อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ หัวหน้าห้องสมุดท่านแรก (กลาง) และคณะผู้แทนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เยี่ยมชมห้องสมุด (ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ทศวรรษที่ 2 Joint Library (พ.ศ. 2511-2520)

พ.ศ. 2512

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจาก คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2512 ดังนั้น ห้องสมุดจึงใช้ชื่อว่า ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ ตามชื่อของคณะ

เมื่อคณะวิทยาศาสตร์ ย้ายสถานที่ทำการมายังบริเวณถนนพระรามที่ 6 เป็นช่วงเวลาเดียวกับการก่อตั้ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีการก่อตั้งห้องสมุดเช่นเดียวกัน โดยห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2512 คณบดีของทั้งสองคณะคือ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ นพ.อารี วัลยะเสวี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยผู้แทนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ คือ Dr.James S. Dinning และ Dr. Carroll F. Reynolds เห็นพ้องในการร่วมกันดำเนินงานห้องสมุดทั้งสองแห่งในรูปแบบ Joint Library ซึ่งเป็นนโยบายที่ล้ำสมัยอย่างมากในยุคนั้นและเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ดำเนินงานในลักษณะนี้

ประตูทางเข้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข บันทึกราวปี พ.ศ. 2530-2534
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ห้องสมุดทั้งสองแห่งดำเนินงานและใช้ทรัพยากรร่วมกันในลักษณะ Joint Library ตั้งแต่ภาคการศึกษา พ.ศ. 2511 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 13 ปี เนื่องจากห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีบรรณารักษ์และบุคลากรเพียงพอต่อการรับผิดชอบงานของห้องสมุด อีกทั้งมีโครงการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน แต่ความร่วมมือและประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างห้องสมุดทั้งสองแห่งยังคงสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อห้องสมุดทั้งสองแห่งได้แยกกันบริหารจัดการ จึงจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่เคยใช้ร่วมกัน และมีข้อตกลงในการแบ่งทรัพยากรตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยทรัพยากรประเภทหนังสือและตำราคัดแยกโดยพิจารณาจากงบประมาณในการจัดซื้อ การได้มาด้วยการรับบริจาคหรือแลกเปลี่ยนจากทั้งสองคณะ สำหรับวารสารวิชาการ คัดแยกโดยพิจารณาจากงบประมาณในการจัดซื้อ แต่เนื่องจากในขณะนั้น ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ฯ มีพื้นที่จำกัด จึงฝากเก็บไว้ที่ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ และดำเนินการขนย้ายไปจนหมดเมื่อ พ.ศ. 2531

ตั้งแต่ห้องสมุดย้ายที่ทำการมาสถานที่แห่งใหม่ การจัดการด้านการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ชุมนุมสำหรับนักศึกษาที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้หรือใช้เป็นที่ประชุมปรึกษางานวิจัย มีนักศึกษาบางส่วนที่ต้องการผ่อนคลายจากการคร่ำเคร่งศึกษาตำรา จึงเสนอให้ห้องสมุดจัดหาหนังสือนอกเวลาเพื่อความบันเทิงบ้าง แต่เนื่องจากห้องสมุดจำเป็นต้องรักษาบรรยากาศทางวิชาการ จึงตกลงกับสโมสรนักศึกษา จัดตั้งห้องสมุดของสโมสรนักศึกษา มีสิ่งพิมพ์ที่หลากหลายทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ หนังสือนอกเวลาที่นักศึกษาต้องการ จนกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ห้องสมุดใหญ่ / ห้องสมุดเล็ก มีการเกื้อกูลแบ่งสรรสิ่งพิมพ์แก่กัน เมื่อห้องสมุดคณะฯ ได้รับบริจาคหนังสือที่ไม่ใช่วิชาการ ก็จะส่งต่อให้ห้องสมุดสโมสรฯ และเมื่อห้องสมุดของสโมสรฯ หรือชมรมวิชาการของสโมสรนักศึกษาได้หนังสือวิชาการมา ก็จะส่งต่อให้ห้องสมุดคณะฯ เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หนังสือต่าง ๆ ของห้องสมุดสโมสรฯ จึงถูกเจ้าหน้าที่รัฐยึดเก็บไปจนหมด

ห้องสมุดจัดหาสิ่งพิมพ์ช่วยค้นประเภทดัชนีและสาระสังเขปให้บริการจำนวนมาก เป็นแหล่งค้นคว้าสำคัญของนักวิจัยและนักศึกษา ทั้งจากมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันอื่น (ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2517

พ.ศ. 2517 ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นห้องสมุดในกลุ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ในการจัดทำบัญชีรายชื่อวารสารด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้เป็นห้องสมุดที่มีชื่อเสียงด้านการให้บริการที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนั้น

พ.ศ. 2519

ที่ประชุมคณบดีได้ให้ความยินยอมจากการเสนอของห้องสมุด เมื่อ พ.ศ. 2519 ให้ใช้ชื่อห้องสมุดว่า "ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรก ผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์

ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ขวาสุด) อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ หัวหน้าห้องสมุดท่านแรก (ซ้าย) และคณะผู้แทนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เยี่ยมชมห้องสมุด
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ทศวรรษที่ 3 ห้องสมุดกับเทคโนโลยี (พ.ศ. 2521-2530)

เมื่อห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ดำเนินงานเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 มีความก้าวหน้าและพัฒนาตามลำดับทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากร งบประมาณ และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณะวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้บุคลากรห้องสมุดศึกษาต่อ เข้าร่วมประชุม สัมมนา เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

พ.ศ. 2525

มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ศึกษาที่วิทยาเขตศาลายา ในระยะแรกห้องสมุดต้องขนย้ายหนังสือสำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากวิทยาเขตพญาไทไปยังศาลายา การให้บริการในขณะนั้นจึงไม่สามารถรองรับความต้องการของนักศึกษาจำนวนมากได้ ห้องสมุดสตางค์จึงจัดบุคลากรส่วนหนึ่งหมุนเวียนไปช่วยงานที่หอสมุดศาลายาเป็นเวลา 2 ปี

อาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์ บันทึกเมื่อ พ.ศ. 2526
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

พ.ศ. 2528

ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ขยายขอบข่ายงานบริการ โดยจัดตั้งโครงการศูนย์สนเทศวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เมื่อ พ.ศ. 2528 เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์มีสาขาวิจัยและการวิจัยในระดับสูงเพิ่มขึ้น ห้องสมุดจึงจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชา เพื่อสนองความต้องการของคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การดำเนินงานของศูนย์สนเทศฯ มุ่งเน้นบริการข้อมูลทางวิชาการ ได้แก่ ให้บริการสืบค้นข้อมูลวิชาการจากฐานข้อมูล DIALOG จากประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำและให้คำปรึกษาในการค้นคว้าข้อมูลจาก CD-ROM รวบรวมเอกสารและผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับโครงการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ และจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้บริการแก่นักวิจัย อาทิ ประวัติและผลงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์ บรรณานุกรมสิ่งพิมพ์ รายชื่อโครงการวิจัยในประเทศไทย เป็นต้น ต่อมาศูนย์สนเทศฯ ย้ายไปสังกัดสำนักหอสมุด เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2530

ศูนย์สนเทศวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ภายในห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

พ.ศ. 2529

ห้องสมุดสตางค์ เริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและให้บริการ โดยการจัดเก็บข้อมูลสิ่งพิมพ์ ระบบการค้นหาสิ่งพิมพ์ และให้บริการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการผ่านระบบสื่อสารทางไกลด้วยสัญญาณโทรศัพท์ไปยังฐานข้อมูล DIALOG ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2529

เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาให้บริการแก่ผู้ใช้สำหรับการค้นคว้าข้อมูล (ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ห้องสมุดได้นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติเข้ามาให้บริการ และพัฒนาการให้บริการวิชาการด้วยการจัดหาฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนและการวิจัย โดยบอกรับฐานข้อมูลในรูปแบบ CD-ROM ทดแทนการบอกรับแบบสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ช่วยค้นประเภทดัชนีวารสารและบทคัดย่อ อาทิ Chemical Abstract, Biological Abstract, Physics Abstract, Science Citation Index โดยเฉพาะ Chemical Abstract ซึ่งห้องสมุดบอกรับในรูปแบบสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่ ปีที่ 1 ค.ศ. 1907 จนเมื่อปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ CD-ROM จึงยุติการบอกรับรูปแบบสิ่งพิมพ์ ทำให้ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เป็นแหล่งค้นคว้าผลงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียง เป็นที่พึ่งหลักของนักศึกษาและนักวิจัยจากทั่วประเทศ

ห้องสมุดเริ่มพัฒนาระบบการสืบค้นสิ่งพิมพ์ในห้องสมุดจากบัตรรายการเป็นระบบคอมพิวเตอร์ โดยในช่วงแรกยังคงทำงานควบคู่กัน (ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

และเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ รวมทั้งส่งเสริมภาระหน้าที่ของห้องสมุดให้เป็น Learning Resource Center ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่ทันสมัยมากในยุคนั้น ห้องสมุดจึงจัดหาทรัพยากรการเรียนรู้ด้วยตนเอง อาทิ Video Tape และ Tape Cassette การบรรยาย Slide ประกอบการบรรยาย คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aid Instruction: CAI) เป็นต้น

พ.ศ. 2529 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรครั้งสำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลปรับเปลี่ยนการบริหารห้องสมุด เมื่อยกฐานะ กองห้องสมุด เป็น สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2529 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 103 ตอนที่ 140 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2529 โอนย้ายหอสมุดศาลายา ห้องสมุดคณะและสถาบันต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล 14 แห่ง รวมถึงห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข มาสังกัดสำนักหอสมุด มีผู้อำนวยการสำนักหอสมุด เป็นผู้บริหารด้านงบประมาณ บุคลากร และการดำเนินงาน ส่วนอาคารสถานที่ของห้องสมุด ยังอยู่ในความรับผิดชอบของคณะ วัสดุ ครุภัณฑ์ ทรัพยากรต่าง ๆ ที่จัดซื้อโดยงบประมาณของคณะมาแต่เดิมให้เป็นทรัพย์สินของคณะ บุคลากรของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข โอนไปสังกัดสำนักหอสมุด ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2529 และสำนักหอสมุดเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้ห้องสมุดต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2531

ทศวรรษที่ 4 ยุคโลกาภิวัตน์ (พ.ศ. 2531-2540)

พ.ศ. 2532

ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้กับกิจการของห้องสมุดอย่างเต็มตัว ริเริ่มให้บริการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล MEDLINE ในรูปแบบ CD-ROM เมื่อปี พ.ศ. 2532 (1) โดยการใช้คำค้น (Keywords) แทนการค้นหาจาก Index Medicus ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ช่วยค้นประเภทดัชนีคำค้นที่มีความหนาและใช้เวลาค้นหาค่อนข้างนาน การค้นหาจาก CD-ROM จึงช่วยประหยัดเวลาได้มาก นับเป็นบริการใหม่ที่นับว่าทันสมัยในยุคนั้น

บอร์ดประชาสัมพันธ์บริการสืบค้นข้อมูลจาก CD-ROM
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

พ.ศ. 2533

ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สี่ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สำคัญ คือได้รับการสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์ ในการปรับปรุงพื้นที่บริเวณชั้น 1 ของตึกฟิสิกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวของบริการต่าง ๆ เป็นการพัฒนาห้องสมุดไปสู่การเป็น Learning Resource Center โดยแต่เดิมนั้นบริเวณชั้น 1 ของตึกฟิสิกส์เป็นโถงเปิดโล่งล้อมรอบด้วยสระน้ำสำหรับใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา ทำการรื้อถอนและต่อเติมใหม่กลายเป็นแหล่งรวบรวมสื่อโสตทัศนศึกษาให้บริการแก่คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบุคลากร ได้รับอนุมัติงบประมาณดำเนินการ 5 ล้านบาท เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2533 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2536 (2)

การปรับปรุงพื้นที่บริเวณชั้น 1 ตึกฟิสิกส์ เป็นพื้นที่ให้บริการแก่นักศึกษา รองรับการเป็น Learning Resource Center เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2533 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2536 (ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ห้องสมุดจัดทำระบบให้บริการยืม-คืนทรัพยากรด้วยบาร์โค้ด และร่วมมือกับ ศูนย์บริการสารสนเทศ (Technical Information Access Center : TIAC) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Development Board : STDB) เปิดให้บริการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล DIALOG

เริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับบริการยืม-คืนสิ่งพิมพ์
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2535

จากนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ติดต่อเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ ห้องสมุดจึงวางแผนพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายข้างต้น โดยเริ่มวางระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เมื่อปี พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเรียน การสอนและการวิจัย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3.1 ล้านบาท (4) จากคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้การบริหารของ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ คณบดี และ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ในสมัยนั้น โดยใช้เงินในโครงการต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม โครงการผลิตแพทย์ กทม. และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของสถาบันฯ (Institutional Strengthening Program) ของ สวทช. หรือ NSTDA ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Local Area Network) ที่ใช้ Novell Netware เป็นโปรแกรมควบคุมระบบ และ SCSI Express โปรแกรมควบคุมการทำงานของ เครือข่าย CD-ROM เพื่อบริการข้อมูลทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้บริการสืบค้นข้อมูลด้วยตนเองด้วยคอมพิวเตอร์ภายในห้องสมุด บริการสืบค้นข้อมูลโดยบรรณารักษ์ บริการติดต่อออนไลน์ผ่านสายโทรศัพท์ และติดต่อจากภาควิชาต่าง ๆ โดยผ่านระบบเครือข่ายของคณะวิทยาศาสตร์

ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Local Area Network) ควบคุมการทำงานของเครือข่าย CD-ROM (ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2536

ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ได้เปิดให้บริการแก่บุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ และคณะอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และบุคคลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2536

หลังจากจัดวางระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เรียบร้อย ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้นข้อมูลด้วยตนเองจากจุดให้บริการทั่วทั้งห้องสมุดจำนวน 7 เครื่อง ข้อมูลที่ให้บริการจัดทำเป็นเครือข่าย CD-ROM เพื่อให้เรียกค้นฐานข้อมูลทั้งหมดได้พร้อมกันทุกจุด ซึ่งฐานข้อมูลที่มีให้บริการในขณะนั้น ได้แก่ MEDLINE CDPlus, Biotechnology Citation Index, Chemical Citation Index และ Biochemistry & Biophysics Citation Index และให้บริการฐานข้อมูลบัตรรายการหนังสือในห้องสมุดภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ฐานข้อมูลรายชื่อวารสารในประเทศไทย (5)

ในระยะเริ่มแรกผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นได้จากภาควิชาหรือที่อื่น ๆ ภายนอกห้องสมุดด้วยการติดต่อออนไลน์ผ่านสายโทรศัพท์ ต่อมา สำนักคอมพิวเตอร์ ได้เชื่อมโยงสายเคเบิลมายังระบบ LAN ของห้องสมุด ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในห้องสมุดติดต่อเข้าระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและใช้บริการต่าง ๆ จากสำนักคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง และภาควิชา หน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์ จะเชื่อมโยงถึงกัน รวมถึงเข้าค้นข้อมูลจากห้องสมุดได้สะดวกรวดเร็ว

ผังการเชื่อมต่อระบบ LAN ภายในคณะวิทยาศาสตร์ในยุคเริ่มแรก
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2538

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับวิทยาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนพันธกิจของคณะวิทยาศาสตร์ ห้องสมุดจึงขยายขอบเขตการให้บริการและจัดหาทรัพยากรที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยให้ความสำคัญทั้งด้านเนื้อหาสาระและปริมาณ ในปี พ.ศ. 2538 ห้องสมุดเพิ่มการบอกรับฐานข้อมูลในรูปแบบ CD-ROM เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นแหล่งสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากนักวิจัยทั่วประเทศ ฐานข้อมูลที่ห้องสมุดให้บริการ ได้แก่ (6)

  • MEDLINE
  • Current Contents สาขา Clinical Medicine, Life Sciences, Agriculture, Biology and Environmental Sciences, Physics, Chemical and Earth Sciences
  • Chemical Citation Index
  • Biotechnology Citation Index
  • Biochemistry & Biophysics Citation Index
  • Science Citation Index
  • Biological Abstracts

นอกจากนี้ยังมีบริการสื่อความรู้ประเภทมัลติมีเดีย อาทิ New Grolier Multimedia Encyclopedia, The Nature of Genes, Body Insight เป็นต้น และเริ่มให้บริการบทความวิจัยฉบับเต็ม (Full Text) จากวารสารวิชาการในรูปแบบ CD-ROM อาทิ Journal of Virology, The New England Journal of Medicine, Nucleic Acids Research เป็นต้น

CD-ROM Stack สำหรับบริการสืบค้นข้อมูลจาก CD-ROM เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ได้พร้อมกันในคราวเดียว
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ต่อมาเมื่อจำนวน CD-ROM มีมากขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้งานเพื่อค้นคว้าข้อมูลมีสูงขึ้น ห้องสมุดจึงติดตั้ง CD-ROM Stack เพื่อรองรับจำนวน CD-ROM ที่มีเพิ่มขึ้นและเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ได้พร้อมกันในคราวเดียว โดยอาศัยระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ทำให้ผู้ใช้ค้นคว้าข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

เมื่อระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงเริ่มขยายขอบเขตการให้บริการด้วยการเข้าร่วมโครงการระบบเครือข่ายห้องสมุดอัตโนมัติ ของ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล (MULINET : Mahidol University Library and Information Center Network) ในปี พ.ศ. 2538 ประกอบด้วย สำนักหอสมุดฯ และห้องสมุดคณะ/สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 16 แห่ง เพื่อเชื่อมข้อมูลสารสนเทศให้เกิดการใช้งานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

บริการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบ CD-ROM
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2540

ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข พัฒนาโฮมเพจของหน่วยงานขึ้นเป็นครั้งแรก และเปิดให้บริการในชื่อ http://stang.li.mahidol.ac.th มีช่องทางการค้นหาทรัพยากรในห้องสมุด ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ แหล่งสารสนเทศจากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และช่องทางการติดต่อกับห้องสมุดเพื่อให้ผู้ใช้บริการสอบถามข้อสงสัยหรือแนะนำสิ่งพิมพ์

ภาพโฮมเพจยุคแรก ๆ ของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข (ราว พ.ศ. 2540)
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

จัดอบรมและฝึกปฏิบัติการการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และสื่อมัลติมีเดีย อาทิ การประยุกต์ใช้ Multimedia (18 พ.ค. 2537) การสืบค้นข้อมูลทางเคมีจากฐานข้อมูล STN International (23-26 ม.ค. 2538) โปรแกรมจัดการบรรณานุกรมส่วนบุคคล ( 19-20 เม.ย. 2538) และ การสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ เป็นต้น
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ทศวรรษที่ 5 สารสนเทศงานวิจัย (พ.ศ. 2541-2550)

ในทศวรรษที่ 5 ของการดำเนินงาน ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลายประการ ทั้งด้านการปรับเปลี่ยนการบริหารองค์การ ด้านบุคลากร และอาคารสถานที่

พ.ศ. 2544

โลกเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มตัว สารสนเทศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีปริมาณมาก หลากหลาย และอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลกจึงมีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีการกระจายสารสนเทศบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งที่เป็นบริการทางการค้า (Commercial) และ สารสนเทศที่เป็นบริการแบบสาธารณะ (Public) แพร่กระจายไปยังหน่วยงาน บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยได้หลายทิศทาง ดังนั้น หากนักวิจัยและผู้บริหารการวิจัยไม่มีกลยุทธ์ในการนำสารสนเทศที่มีคุณภาพและถูกต้องแม่นยำมาใช้ประโยชน์ให้ทันการณ์ จะทำให้เกิดการเสียเปรียบในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสียเปรียบดุลการค้าระหว่างประเทศโดยเปล่าประโยชน์ หากไม่สามารถใช้สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการวิจัยที่จัดหามาด้วยราคาแพง ได้อย่างคุ้มค่ากับการลงทุน ในทางตรงกันข้าม หากสามารถใช้กลยุทธ์ ในการบริหารจัดการสารสนเทศที่เหมาะสม วางแผนการคัดสรรและเลือกใช้สารสนเทศ ที่จัดหามาแล้วได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว คุ้มค่าต่อการลงทุน และเชื่อถือได้ ย่อมก่อประโยชน์ต่อการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยได้มากยิ่งกว่า

ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้บุกเบิกงานด้านสารสนเทศวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ (ขวาสุด) และพัฒนาเป็น หน่วยสารสนเทศงานวิจัย ในเวลาต่อมา
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

จากความจำเป็นข้างต้น คณะวิทยาศาสตร์ จึงจัดตั้ง หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Center of Scientific Information Resources - CSIR) ขึ้นเป็นหน่วยงานสนับสนุนการบริการทางวิชาการและวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2544 มีหน้าที่สำคัญ ได้แก่

  • พัฒนาสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสารสนเทศ เพื่อการวิจัยจากทั่วโลก ค้นหา วิเคราะห์ และให้บริการสารสนเทศแก่นักวิจัย เพื่อกระจายข่าวสารไปอย่างรวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก (Information Communication Technology)
  • จัดทำระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัย ฐานข้อมูลองค์ความรู้และภูมิปัญญาของนักวิจัย สรุปผลและจัดทำดัชนีบ่งชี้ (Bibliometric Indicator) ให้แก่ผู้บริหารเพื่อใช้กำหนดนโยบายทิศทางการวิจัย
  • ให้บริการสารสนเทศผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์สู่สังคม ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์
  • เป็นศูนย์กลางติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านสารสนเทศ ในกลุ่มนักวิจัยและกลุ่มผู้สนับสนุนการวิจัย ให้ความรู้และฝึกอบรมวิชาการสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์
  • ทำการวิจัยทางด้านสารสนเทศเพื่อนำผลวิจัยมาใช้ในการพัฒนา เป็นหน่วยงานกลางของคณะวิทยาศาสตร์
  • ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานด้านสารสนเทศกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย อาทิ สำนักคอมพิวเตอร์ สำนักหอสมุด กองบริหารงานวิจัย ฯลฯ และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย อาทิ กลุ่มภาคีความร่วมมือ (Consortium) ระหว่างคณะวิชาวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอิสระ ที่รับผิดชอบสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชาติ

นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ได้จัดการเรียน การสอน บริการวิชาการ และการวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่คณะฯ ผลิตผลงานที่มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดที่ว่า งานวิจัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ การวิจัยที่จะประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องมีบุคลากรและนักวิจัยที่มีคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชา มีการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เพียงพอ ตลอดจนบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินงาน คณะวิทยาศาสตร์จึงมีแผนงานเพื่อมุ่งเน้นการศึกษา สร้างสรรค์ผลงานวิจัยในระดับสากล จัดให้มีศูนย์ข้อมูลและสื่อการสอนทุกรูปแบบ (Resource Center) พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการปฏิรูประบบการเรียนรู้ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงจัดตั้ง Center of Excellence ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544

อาคารเฉลิมพระเกียรติ (ตึก K) ที่ตั้งของ Center of Excellence เริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2538 สิ้นสุดโครงการเมื่อ พ.ศ. 2540
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

พ.ศ. 2546

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือด้านบุคลากร เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2546 มี ศาสตราจารย์ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายของสำนักหอสมุด มีมติให้คณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถดำเนินการบริหารงานห้องสมุดได้เอง ด้วยมติดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความพร้อม จึงขออนุมัติเข้าบริหารงานห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข และขอรับบุคลากรห้องสมุดบางส่วน ที่มีความประสงค์จะปฏิบัติงานต่อ ณ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข โอนย้ายมาสังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546

แม้จะประสบปัญหาด้านบุคลากรในระยะแรก แต่ด้วยการสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์ ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานและเปิดรับบุคลากรใหม่ทดแทนบุคลากรที่ประสงค์จะปฏิบัติงาน ณ สำนักหอสมุดฯ ประสงค์ลาออก และเกษียณอายุงาน ทำให้งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานและบุคลากร ทำให้เกิดผลกระทบต่อห้องสมุดพอสมควร บุคลากรของหน่วยงานภายใต้การกำกับของงานสารสนเทศฯ ต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงและสอดประสานกัน โดยเฉพาะการจัดการสารสนเทศซึ่งจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทกับการจัดการสารสนเทศของคณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น

สื่อออนไลน์เข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารขององค์กร ภายหลังการจัดตั้ง งานสารสนเทศฯ จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเว็บไซต์ให้มีความเป็นสากล แต่ยังคงข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียน การสอน และการวิจัย โดยบุคลากรของงานสารสนเทศฯ เข้ามาทำหน้า Webmaster อย่างเต็มตัว มีระบบจัดเก็บข้อมูลและ Server สำหรับหน่วยงานโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ https://stang.sc.mahidol.ac.th

พ.ศ. 2546 หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (Multimedia Center) พัฒนาการให้บริการและขยายขอบข่ายการทำงานไปอีกขั้น เมื่อคณะวิทยาศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น อนุมัติงบประมาณจำนวน 2.4 ล้านบาท สนับสนุนโครงการพัฒนาการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2546-2547) เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับพัฒนาการเรียนการสอนแบบมัลติมีเดีย และระบบครุภัณฑ์วิดีโอดิจิทัล ทำหน้าที่ผลิตสื่อการสอนแบบดิจิทัลให้บริการแก่คณาจารย์และนักศึกษา

พื้นที่บริการโสตทัศนวัสดุและสื่อการสอน บริเวณห้องสมุด ชั้นหนึ่ง ตึกฟิสิกส์ต่อมาพัฒนาเป็น หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (Multimedia Center) เมื่อ พ.ศ. 2546
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

บริการผลิตสื่อการสอนและสื่อมัลติมีเดีย ของ หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (Multimedia Center)
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ห้องสมุดจัดทำระบบให้บริการยืม-คืนทรัพยากรด้วยบาร์โค้ด และร่วมมือกับ ศูนย์บริการสารสนเทศ (Technical Information Access Center : TIAC) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Development Board : STDB) เปิดให้บริการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล DIALOG

พ.ศ. 2547

จากการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ทำให้คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนมาก ได้รับชื่อเสียง รางวัลเกียรติยศจากสถาบันสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล หัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ในขณะนั้น จึงเสนอต่อคณะวิทยาศาสตร์ในการรวมหน่วยงานที่มีภาระงานด้านสารสนเทศเข้าด้วยกัน ได้แก่ หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ยกระดับให้มีฐานะเป็นงาน ภายใต้สังกัดสำนักงานคณบดี จัดให้มีโครงสร้างและรูปแบบที่เหมาะสม พัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัย รวบรวมและให้บริการสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ โดยเน้นความต้องการสารสนเทศของบุคลากรและนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ดำเนินงานด้านสารสนเทศตามนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดี และเป็นผู้นำทางวิชาการและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยใช้ชื่อหน่วยงานว่า “งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข” ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย และเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2547 ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน ได้แก่ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข หน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และหน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (7)

งานสารสนเทศฯ ดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่ภายในห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข บริเวณชั้น 2-3 ตึกฟิสิกส์ เพื่อซ่อมแซมโครงสร้างที่ทรุดโทรม ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้งานและความต้องการของผู้ใช้บริการ นับเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่และครั้งแรก นับตั้งแต่ห้องสมุดย้ายสถานที่มายังตึกฟิสิกส์ เมื่อปี พ.ศ. 2511

เจ้าหน้าที่ห้องสมุดจัดเตรียมขนย้ายสิ่งพิมพ์
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ขนย้ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมดจากห้องสมุดมาเก็บไว้ชั่วคราวที่ ตึก Pr
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

การปรับปรุงพื้นที่ของห้องสมุดประกอบด้วยการวางผังพื้นที่ใช้สอยใหม่ทั้งหมด ได้แก่ พื้นที่บริการสำหรับผู้ใช้บริการ พื้นที่จัดเก็บทรัพยากรห้องสมุด พื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ ซ่อมแซมและปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า ระบบไฟส่องสว่าง ระบบปรับอากาศ วัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับปรุงทัศนียภาพภายในห้องสมุด เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของห้องสมุดให้ทันสมัย รองรับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังคงบรรยากาศทางวิชาการไว้อย่างเต็มเปี่ยม

ภาพที่ 38-41 : ดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างเพดาน ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า และขนยายวัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2547
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ภาพที่ 42-43 : ห้องสมุดย้ายสถานที่ให้บริการชั่วคราวมายังบริเวณ ชั้นหนึ่ง ตึกฟิสิกส์
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ห้องสมุดริเริ่มโครงการ ศูนย์รับบริจาคหนังสือและวารสาร เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เมื่อห้องสมุดได้รับบริจาคหนังสือจากผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา ผู้มีจิตศรัทธาประสงค์มอบหนังสือให้ห้องสมุดเพื่อใช้ในโอกาสต่าง ๆ รวมถึงได้รับจากหน่วยงานหรือองค์การในวาระโอกาสต่าง ๆ หนังสือที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับนโยบายการจัดหาทรัพยากรของห้องสมุด จะถูกนำเข้าระบบเพื่อให้บริการต่อไป ขณะเดียวกันกลับมีหนังสือจำนวนไม่น้อยที่มีคุณค่าแต่ไม่สอดคล้องกับนโยบายการจัดหาทรัพยากร ห้องสมุดจึงหาหนทางที่จะนำหนังสือกลุ่มดังกล่าวไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความประสงค์ของผู้บริจาค

ในระยะแรกของศูนย์รับบริจาคหนังสือและวารสาร ดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการภายใต้การดูแลของฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศของห้องสมุด ประชาสัมพันธ์ข่าวสารและติดต่อกับห้องสมุดโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือ ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างน่าพอใจ มีผู้ทราบข่าวนำหนังสือ วารสาร และสิ่งพิมพ์ที่เป็นประโยชน์มามอบให้ศูนย์รับบริจาคฯ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีห้องสมุด โรงเรียน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทยอยแจ้งความประสงค์ขอรับบริจาคเข้ามาเป็นระยะ ศูนย์รับบริจาคฯ จึงเริ่มวางแผนดำเนินการอย่างเป็นระบบและขยายขอบเขตการทำงานให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2547 ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล หัวหน้างานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ได้ดำเนินแผนการเสนอ โครงการจัดตั้งหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ขึ้นอีกหน่วยงานหนึ่ง โดยเริ่มดำเนินงานด้านจดหมายเหตุอย่างไม่เป็นทางการด้วยการแสวงหา รวบรวม เอกสารจดหมายเหตุและวัตถุพิพิธภัณฑ์ไว้บางส่วน จัดเก็บและเผยแพร่ ณ ตู้จัดแสดงชั่วคราวภายในห้องสมุดบริเวณชั้น 2-3

ตู้จัดแสดงเอกสารจดหมายเหตุในยุคแรก ๆ ก่อนจะเริ่มดำเนินงานด้านจดหมายเหตุอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2548

ผลสืบเนื่องจากโครงการจัดตั้งหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงมีแนวคิดในการจัดกิจกรรม มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ เพื่อหารายได้สนับสนุนโครงการจัดตั้งหน่วยจดหมายเหตุฯ และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองพันธกิจสำคัญของห้องสมุด นั่นคือการส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้พบปะและเลือกซื้อหนังสือมีคุณภาพจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง

งานหนังสือมหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ ครั้งปฐมฤกษ์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 มีร้านค้า สำนักพิมพ์ ตัวแทนจำหน่าย และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนถึง 52 แห่ง กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างความแปลกใหม่และดึงดูดความสนใจจากนักศึกษาและบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงบุคลากรจากหน่วยงานใกล้เคียงและประชาชนทั่วไป เข้ามาเลือกชมและเลือกซื้อหนังสือ นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเสวนากับนักเขียนชื่อดังและวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างเป็นกันเอง นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของห้องสมุดที่ประสบความสำเร็จอย่างดงาม จนกลายเป็นกิจกรรมใหญ่ประจำปีที่ทุกคนเฝ้าติดตาม โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ ปี

บรรยากาศผู้เข้าชมงานมหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ ครั้งปฐมฤกษ์ (พ.ศ. 2548)
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

บรรยากาศกิจกรรมเสวนากับนักเขียน ในงานมหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ ครั้งปฐมฤกษ์ (พ.ศ. 2548)
จากซ้าย ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และ คุณฐาวรา สิริพิพัฒน์
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2550

ศูนย์รับบริจาคฯ ขยายพื้นที่มาที่บริเวณชั้น 1 ตึกฟิสิกส์ เพื่อรองรับจำนวนสิ่งพิมพ์ที่มีผู้บริจาคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะรับบริจาคสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีผู้สนใจบริจาคอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา ของเล่น ฯลฯ และผลจากการนำสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ ยิ่งทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมบริจาคมากขึ้นทั้งในนามบุคคลหรือองค์กร

ทศวรรษที่ 6 ปรับโครงสร้างตามพันธกิจ (พ.ศ. 2551-2560)

งานสารสนเทศฯ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและภาระหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ และตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

พ.ศ. 2553

ผลการดำเนินงานของศูนย์รับบริจาคหนังสือห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข สร้างชื่อเสียงให้แก่ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เป็นอย่างมาก เป็นส่วนหนึ่งของการบริการสังคมซึ่งสอดรับกับนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ ในการเป็นองค์กรเพื่อสังคม กระจายองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยศูนย์บริจาคฯ ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการดำเนินงานด้วยการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อสังคมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกสารอย่างต่อเนื่อง จนขยายขอบเขตการรับและบริจาคไปยังหน่วยงานที่ขาดแคลนทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ในปี พ.ศ. 2553 ได้ปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอย่างเป็นทางการว่า ศูนย์รับบริจาคหนังสือห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

เนื่องจากงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สื่อการเรียนการสอนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียน การสอน และการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ การให้บริการในรูปแบบเดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ และขอบเขตความรับผิดชอบที่มีเพิ่มขึ้นตามลำดับ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรที่ในขณะนั้นประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ 2 ราย และนักวิชาการคอมพิวเตอร์ 1 ราย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ งานสารสนเทศฯ จึงเสนอเปลี่ยนชื่อ หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา เป็น หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางวิชาการ (Academic Information Technology) พร้อมปรับภาระหน้าที่ให้สอดคล้องกับพันธกิจของงานสารสนเทศฯ และก้าวทันต่อยุคสมัย โดยภาระหน้าที่สำคัญที่รับผิดชอบเพิ่มเติม อาทิ

  • การควบคุม ดูแล บริหารเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตพญาไท รวมถึงการบริหารความเสี่ยงเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งวิทยาเขตพญาไทและศาลายา
  • ให้คำปรึกษาการใช้คอมพิวเตอร์เพื่องานวิจัยระดับสูง เช่น การติดตั้ง/ใช้งาน Computer Cluster เพื่อการวิจัย การติดตั้งคอมพิวเตอร์กับเครื่องมือวิจัย
  • พัฒนาเว็บไซต์หลักของคณะวิทยาศาสตร์ งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง
  • พัฒนาโปรแกรม (Web Programming) เพื่อสนับสนุนพันธกิจหลักของงานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เช่น MUSC E-publication ฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ ฐานข้อมูลบุคลากรสายสนับสนุน ฐานข้อมูลสมาชิกห้องสมุด ระบบบริหารจัดการ Co-working ฐานข้อมูลคลังความรู้จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ฐานข้อมูลคลังบทความวิชาการย้อนหลัง เป็นต้น

งานสารสนเทศฯ นำเสนอโครงการจัดตั้งหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่ด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ของคณะวิทยาศาสตร์ จัดเก็บ อนุรักษ์ และเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุและวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงและเป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังดำเนินรอยตาม ข้อมูลประวัติศาสตร์และผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ หน่วยงานที่มีความเชื่อมโยงกับคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าหรือแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติ

พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข บริเวณชั้น 3 ของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

หอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น บริเวณชั้น 2 ของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ก่อนนำเสนอโครงการจัดตั้งฯ งานสารสนเทศฯ ดำเนินกิจกรรมด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มาก่อนแล้ว โดยภายหลังการปรับปรุงห้องสมุดในปี พ.ศ. 2547 เริ่มการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข ใช้พื้นที่บริเวณชั้น 3 และดำเนินการต่อเนื่องในปีถัดมาด้วยการก่อสร้าง หอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น เพื่อแสดงเกียรติคุณและความสำเร็จของคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยและส่วนงานต่าง ๆ ให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เป็นมรดกความทรงจำ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และพัฒนาการของมหาวิทยาลัย มุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ดำเนินงานเพื่อสนองนโยบายดังกล่าวจากโครงการจัดตั้งหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ของงานสารสนเทศฯ

ร่วมแสดงนิทรรศการ มรดกความทรงจำแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ในงานเวทีวิชาการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2558

เพื่อเป็นการสนองต่อนโยบายของมหาวิทยาลัย งานสารสนเทศฯ จึงได้เสนอจัดตั้ง หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ และได้รับการอนุมัติเมื่อ พ.ศ. 2558 ทำหน้าที่แสวงหา รวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ เอกสารจดหมายเหตุและวัตถุสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ และเป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือกับงานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานอื่น ๆ (ข้อมูลเสนอขอจัดตั้งหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ปัจจุบัน หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ จัดเก็บ อนุรักษ์ เผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุและวัตถุพิพิธภัณฑ์ ในรูปแบบนิทรรศการและในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ โดยนิทรรศการจัดแสดงบริเวณชั้น 3 ภายในห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จัดแสดงเอกสารจดหมายเหตุและวัตถุสำคัญของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่างให้ชนรุ่นหลังประพฤติปฏิบัติตาม อีกทั้งยังจัดแสดงประวัติและผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ เป็นการเผยแพร่เกียรติภูมิและความภาคภูมิใจของชาวคณะวิทยาศาสตร์ ขณะที่บริเวณชั้น 2 จัดแสดงนิทรรศการหอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2548 ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ได้ขยายพื้นที่จัดแสดงเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการจัดแสดงนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจัดทำเว็บไซต์และคลังความรู้จดหมายเหตุฯ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ในรูปแบบดิจิทัลที่เว็บไซต์ https://stang.sc.mahidol.ac.th/stangmuseum

นอกเหนือจากงานด้านการอนุรักษ์ หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ยังมีส่วนในการดำเนินงานด้านจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์ ประชาสัมพันธ์ และร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการมรดกความทรงจำแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล Memories of Mahidol University ในงานเวทีวิชาการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล งานเปิดบ้านนักวิทยาศาสตร์ งานเสวนาวิชาการกับหน่วยงานด้านจดหมายเหตุทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์แก่ผู้เข้าศึกษาดูงาน เป็นต้น

อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและเทคโนโลยีคือ หน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา (Multimedia Center) ซึ่งภาระหน้าที่หลักของหน่วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา คือการสอนและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านสารสนเทศและเทคโนโลยี   (Information   &   Computer   Literacy) ให้แก่นักศึกษาและบุคลากร ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางเทคนิคสำหรับผู้ใช้บริการสืบค้นสารสนเทศ และหน้าที่สำคัญคือการควบคุมดูแลเครื่องแม่ข่าย Web Server และเป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายผู้ดูแลเว็บไซต์ของคณะวิทยาศาสตร์

อาจารย์และนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเยี่ยมชมอาคารของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการจัดรังวัดและค้นความงามสถาปัตยกรรม (Measurement & Research in Architecture) เมื่อวันพุธที่ 15 กันยายน 2559
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
พ.ศ. 2560

พ.ศ. 2560 ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ริเริ่มจัดตั้ง STANG Co-Working Space เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการที่มองหาพื้นที่ทำงานร่วมกันสำหรับศึกษาค้นคว้าหรือประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการยุคใหม่ของห้องสมุดที่เป็นที่นิยมทั่วโลก โดยจัดสรรพื้นที่บริเวณชั้นสามของห้องสมุดซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ ปรับปรุงเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย ห้องประชุมขนาด 11 ที่นั่ง จำนวน 1 ห้อง ห้องสัมมนากลุ่มย่อยขนาด 6 ที่นั่ง จำนวน 2 ห้อง และพื้นที่ส่วนกลางขนาด 20 ที่นั่ง มีอุปกรณ์และสัญญาณ Wi-Fi ให้บริการ เปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมหนังสือมหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2560 ได้รับความสนใจจากนักศึกษาทุกระดับชั้นเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ผลสืบเนื่องจากการเปิดบริการ STANG Co-Working Space ห้องสมุดจึงพยายามจัดสรรพื้นที่เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้บริการแก่นักศึกษา จึงเปิดบริการพื้นที่นั่งอ่านเพิ่มจำนวน 15 ที่นั่ง โดยใช้ห้อง P306 ซึ่งแต่เดิมเป็นห้องพักวารสารฉบับย้อนหลัง

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนใช้บริการ STANG Co-Working Space
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

บรรยากาศการใช้งาน STANG Co-Working Space
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ทศวรรษที่ 7 การเปลี่ยนแปลงและโรคระบาด (พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน)

สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ กลายเป็นนโยบายหลักของประเทศที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากจนกระทั่งอาจเข้ามาทดแทนกระบวนการทำงานที่แต่เดิมขับเคลื่อนโดยมนุษย์ กลายเป็นอุปสรรคสำหรับใครก็ตามที่ยังคงยึดติดกับกระบวนความคิดแบบเดิม ในทางกลับกัน ก็กลายเป็นโอกาสและทางเลือกที่ก่อให้เกิดการพัฒนาหรือแนวทางการทำงานใหม่ ๆ ได้เช่นกัน

พ.ศ. 2561

ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการยืม-คืนสิ่งพิมพ์และบริการตอบคำถาม บริเวณทางเข้าห้องสมุดซึ่งค่อนข้างทรุดโทรม โดยปรับพื้นที่ใช้สอยให้เป็นสัดส่วน จัดวางโครงสร้างระบบไฟส่องสว่าง ระบบไฟฟ้า สาย LAN ปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม เพิ่มพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ใช้บริการ ลดความแออัด และเพิ่มความสง่างามให้กับห้องสมุด

เคาน์เตอร์บริการและพื้นที่พักคอยภายหลังปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2561
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ในปีเดียวกันนี้เอง ห้องสมุดดำเนินการติดตั้งประตูอัตโนมัติเพื่อบันทึกสถิติและคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ และระบบบันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการจากภายนอก ทั้งนี้ สืบเนื่องจากห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการอย่างไม่จำกัดโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเข้าใช้ ทำให้ในแต่ละวันมีผู้ใช้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจำนวนมาก การคัดกรองแต่เดิมนั้นใช้บุคลากรของห้องสมุดทำหน้าที่บันทึกข้อมูลเพื่อป้องกันเหตุอันไม่พึงประสงค์ จึงมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และยังช่วยในการบันทึกสถิติสำหรับนำมาวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เข้าใช้บริการได้อีกด้วย

ระบบประตูอัตโนมัติ เข้าและออกโดยใช้บัตรประจำตัว เริ่มนำมาใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2561
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

ประตูอัตโนมัติสำหรับคัดกรองผู้ใช้บริการห้องสมุดทำหน้าที่เก็บข้อมูลผู้เข้าใช้บริการในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล โดยบันทึกจากข้อมูลในบัตรประจำตัว ส่วนกรณีที่เป็นบุคคลภายนอก จำเป็นต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อแลกบัตรประจำตัวประชาชนก่อนเข้าใช้บริการ ข้อมูลที่ทำการบันทึกนั้นจะบันทึกเฉพาะข้อมูลเท่าที่จำเป็นในการแสดงตัวตนของผู้ใช้บริการเท่านั้น ซึ่งห้องสมุดจะคำนึงความปลอดภัยและป้องกันความเสี่ยงต่อการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด

พ.ศ. 2562

ปลายปี พ.ศ. 2562 เกิดการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงที่มณฑลอู่ฮั่น ประเทศจีน คือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจรวมถึงประเทศไทย ซึ่งในช่วงแรกยังไม่มีใครคาดคิดว่าโรคร้ายนี้จะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยและจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทยครั้งใหญ่่

พ.ศ. 2563

จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงพฤติกรรมการเข้าถึงสารสนเทศของผู้ใช้บริการ ห้องสมุดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรและบริการสารสนเทศ จำเป็นต้องบูรณาการทรัพยากรทั้งในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ตามประกาศคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง จัดตั้งหน่วยภายใต้ สำนักงานคณบดี โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานคณะวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จึงเห็นควรให้ยุบ หน่วยทรัพยากรห้องสมุด และ หน่วยสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และจัดตั้ง “หน่วยทรัพยากรและบริการ” ขึ้นทดแทน

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงตามลำดับ แม้ว่าจะดำเนินการป้องกันอย่างเต็มที่ก็ตาม เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 กระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่าพบผู้ป่วยโรค โควิด-19 รายแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยในประเทศก็เพิ่มขึ้นจนขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกประกาศฉบับที่ 1 เรื่อง แนวทางปฏิบัติของนักศึกษาเพื่อการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และฉบับที่ 2 เรื่อง แนวทางปฏิบัติของบุคลากรเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีสาระสำคัญให้นักศึกษาและบุคลากรรับทราบและปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเฝ้าระวังอาการป่วย งดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง การกักตัวเพื่อสังเกตอาการ และประกาศงดหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมสถานการณ์เบื้องต้นมิให้คณะวิทยาศาสตร์กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาด หรือ คลัสเตอร์ (Cluster)

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่สู้ดีนัก คณะวิทยาศาสตร์ ออกประกาศฉบับที่ 6 วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติของบุคลากรเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยปิดพื้นที่บางส่วนของคณะฯ จำกัดการเข้า-ออกอาคารต่าง ๆ  ต่อมาได้มีประกาศฉบับที่ 9 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563 กำหนดให้มีระบบการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) โดยพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม ด้วยประกาศฉบับนี้ งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงเร่งดำเนินการพิจารณาให้บุคลากรกลับไปปฏิบัติงานที่บ้าน คงเหลือเฉพาะบุคลากรบางท่านที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในพื้นที่

วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563 คณะวิทยาศาสตร์ ออกประกาศฉบับที่ 11 โดยมีคำสั่งปิดส่วนงานทั้งหมดในพื้นที่พญาไทและศาลายา ให้คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งหมดที่บ้าน เว้นแต่ผู้ที่มีความจำเป็นเท่านั้น จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง บุคลากรงานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ทั้งหมดจึงต้องปฏิบัติงานที่บ้าน กรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้าภายในพื้นที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม ดังนั้น ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงปิดให้บริการภายในพื้นที่คณะวิทยาศาสตร์โดยปริยาย แต่ยังคงให้บริการในรูปแบบออนไลน์ได้ตามปกติ

ก่อนการประกาศปิดพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ วางแผนการรองรับการทำงานของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ โดยเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการให้ความรู้ คัดเลือกโปรแกรมและอุปกรณ์ที่จำเป็น และฝึกอบรมการใช้งานเพื่อให้การปฏิบัติงานที่บ้านเป็นไปได้ด้วยดีและยังคงประสิทธิภาพ หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางวิชาการ จึงร่วมมือกับ งานพัฒนาระบบและเทคโนโลยี คัดสรรโปรแกรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน และจัดอบรมเป็นกรณีเร่งด่วน อาทิ การใช้งานโปรแกรม OBS Studio หรือ Google Classroom สำหรับคณาจารย์ในการจัดเตรียมการสอน โปรแกรมสำหรับการประชุมออนไลน์ เช่น Webex, Zoom, Microsoft Teams นอกจากนี้ยังรวบรวมโปรแกรมที่จำเป็นต่าง ๆ สำหรับการเรียน การสอน ไว้ในเว็บไซต์งานสารสนเทศฯ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากร Download ไปใช้งานได้ด้วยตนเอง ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติงานของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างราบรื่น

คณะวิทยาศาสตร์ เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและประกาศเปิดพื้นที่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 แต่ยังคงอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงกลับมาเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้ใช้บริการอีกครั้ง โดยมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการเข้าใช้พื้นที่อย่างเคร่งครัด ได้แก่

  1. คัดกรองผู้ใช้บริการโดยการตรวจวัดอุณหภูมิ หากเกินกว่า 36 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่
  2. ผู้มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม จะไม่ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่
  3. ผู้ใช้บริการต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังเข้าพื้นที่
  4. ใช้บริการพื้นที่นั่งอ่านโดยเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

เพื่อให้การเปิดบริการเป็นไปอย่างราบรื่น สอดคล้องกับมาตรการการป้องกัน ห้องสมุดจึงปรับพื้นที่นั่งอ่าน โดยจัดเก้าอี้ให้มีระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร จัดทำฉากกั้นสำหรับโต๊ะอ่านหนังสือที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่า 1 ที่ จัดชุดแม่บ้านคอยทำความสะอาดพื้นที่นั่งอ่านเมื่อผู้ใช้เลิกใช้งาน ทำความสะอาดทรัพยากรทุกชิ้นก่อนและหลังให้ผู้ใช้ยืมออก และทำความสะอาดสิ่งพิมพ์ ชั้นวางสิ่งพิมพ์ และพื้นที่ทุกส่วนภายในห้องสมุด

พ.ศ. 2564

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงลุกลามต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2564 ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ปิดพื้นที่ให้บริการตามประกาศของคณะวิทยาศาสตร์อีก 3 ครั้ง คือ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เดือนพฤษภาคม และช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยยังอนุญาตให้ผู้ใช้บริการยืมสิ่งพิมพ์ได้ภายใต้การควบคุม งดให้บริการพื้นที่นั่งอ่านทุกรณี และยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการหันมาใช้บริการออนไลน์แทน

ห้องสมุดเปิดให้บริการตอบคำถาม ช่วยค้นคว้า และให้คำปรึกษาด้านสารสนเทศผ่านระบบ Webex เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการของผู้ใช้ และยังคงเปิดให้บริการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 1 แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยตามความสมัครใจ และให้บริการเข็มกระตุ้นต่อมาอีก 3 เข็ม ซึ่งบุคลากรห้องสมุดเกือบทั้งหมดเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ ส่วนบุคลากรที่เหลือต่างเข้ารับการฉีดวัคซีนจากหน่วยบริการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนตามความสะดวกของแต่ละบุคคล โดยการฉีดวัคซีนป้องกันนี้เป็นนโยบายสำคัญของหน่วยงาน โดย นางสาววรัษยา สุนทรศารทูล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ผู้กำกับดูแลงานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข กำชับให้บุคลากรทุกท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามจำนวน เพื่อเป็นการป้องกันตนเองและคนใกล้ชิด

ผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อนโยบายการดำเนินงานและการให้บริการของงานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้กับการให้บริการ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงเด่นชัดที่สุดประการหนึ่งคือ บริการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ (Stang Library Training)

บริการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ของงานสารสนเทศฯ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยจัดอบรมการใช้บริการห้องสมุดและให้ความรู้ต่าง ๆ ด้านสารสนเทศที่จำเป็นต่อการเรียน การสอน และการวิจัย การใช้งานฐานข้อมูลวิชาการและแหล่งสืบค้นสารสนเทศ เช่น ฐานข้อมูล PubMed, ScienceDirect, Scopus, SciFinder, Web of Science เป็นต้น ต่อมาได้ขยายหัวข้อการอบรมโดยเพิ่มโปรแกรมต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับคณาจารย์และนักศึกษา เช่น EndNote Mendeley รวมถึงสาระความรู้ด้านต่าง ๆ โดยเปิดอบรม ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร โดยในบางหัวข้อได้รับความสนใจจากอาจารย์ผู้สอน ขอความอนุเคราะห์เปิดอบรมเป็นการเฉพาะสำหรับรายวิชา เช่น การใช้ฐานข้อมูลวิชาการเฉพาะทาง การใช้โปรแกรมจัดการบรรณานุกรม การใช้โปรแกรม Adobe Photoshop สำหรับตกแต่งภาพทางวิทยาศาสตร์ การสร้างงานกราฟิกและนำเสนอผลงานด้วย Canva เป็นต้น

พ.ศ. 2565

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักศึกษาเกือบทั้งหมดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนจากในห้องเรียนเป็นการเรียนที่บ้าน จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีทางสารสนเทศและเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับการเรียน ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการฝึกอบรมดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ยังมีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านอุปกรณ์การเรียน ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี จึงมีดำริจัดตั้ง “โครงการแท็บเล็ตเพื่อน้อง” มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคด้านอุปกรณ์ไอที และเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ขาดแคลนได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางสารสนเทศที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการเรียนการสอนยุค New Normal โดยดำเนินการจัดหาเครื่อง iPad สำหรับให้นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา (SC) และนักศึกษาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (PI) ยืมใช้งานเพื่อการศึกษา ซึ่งโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ งานการศึกษา จัดสรรเครื่อง iPad ให้แก่ห้องสมุดฯ เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาจำนวน 40 เครื่อง

รศ. ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มอบเครื่อง iPad ให้แก่ผู้ใช้บริการท่านแรกของโครงการ “แท็บเล็ตเพื่อน้อง” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 (ที่มา : ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข)

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2565 งานสารสนเทศฯ ยังมีโครงการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์คุณภาพสูง จำนวน 43 เครื่อง เพื่อให้บริการ ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (P114) ชั้นหนึ่ง ตึกฟิสิกส์ ซึ่งแต่เดิมให้บริการสำหรับสนับสนุนการเรียน การสอน และการวิจัยภายในคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงการจัดอบรมเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 มีการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีให้บริการ ณ ปัจจุบัน มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 8 ปี ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพที่ไม่รองรับกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถสนองตอบต่อการเรียน การสอน และการอบรมที่มีการใช้งานโปรแกรมทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น

โครงการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์คุณภาพสูงดังกล่าวดำเนินการภายใต้งบประมาณ 2,050,000 บาท (สองล้านห้าหมื่นบาท) เพื่อให้สอดรับกับสังคมและเทคโนโลยี Thailand 4.0 การสนับสนุนประยุกต์ใช้งาน Information Technology Laboratory ภายใต้โจทย์วิจัยในอนาคต สามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โดยคาดว่าจะสามารถสามารถให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเพื่อรองรับการอบรมด้าน Computational หรือ Simulation ของงานวิจัยได้

ปรับปรุงเครื่องคอมพิวเตอร์คุณภาพสูงเพื่อให้บริการภายในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (P114) ชั้นหนึ่ง ตึกฟิสิกส์ จำนวน 40 เครื่อง
(ที่มา : ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข)

และเพื่อสนับสนุนการเรียน การสอน และการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ งานสารสนเทศฯ ยังได้ดำเนินโครงการระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเพื่อการเรียนการสอน 1 ระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาด้วยระบบบริหารจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย (Learning Management System) โดยการพัฒนาเนื้อหา บทเรียนต่าง ๆ และให้บริการแก่นักศึกษา ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้หลากหลายตามความถนัดและความสนใจของตนเอง และสามารถเรียนซ้ำ/ทบทวนบทเรียนด้วยตนเอง โดยส่วนของเนื้อหาของบทเรียน ประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งตรงไปยังผู้เรียนผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ทั้งผู้สอนและผู้เรียนสามารถมีช่องทางปฏิสัมพันธ์ ติดต่อ สื่อสาร ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนทั่วไป โดยการใช้อีเมล แชท โซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น

เดือนมิถุนายน 2565
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จึงกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเช่นเดิม แต่ยังคงรักษามาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยจำกัดพื้นที่นั่งอ่าน ยังคงมีฉากกั้นระหว่างบุคคล และยังคงรณรงค์ให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายในห้องสมุด และจำกัดผู้ใช้บริการเฉพาะนักศึกษาและบุคลากรจากคณะวิทยาศาสตร์ คณะและหน่วยงานจากมหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น

เดือนสิงหาคม 2565
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข เปิดให้บริการแก่บุคคลภายนอกตามปกติ แต่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายในห้องสมุด

เดือนตุลาคม 2565
ในแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของงานสารสนเทศฯ ประการหนึ่ง คือการผลักดันให้ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ก้าวไปสู่การเป็น “Smart Library” เพื่อพัฒนาการให้บริการ โดยนำระบบ RFID ปรับใช้กับระบบประตูทางเข้า-ออกอัตโนมัติ รองรับการใช้งานร่วมกับ We Mahidol Application และติดตั้งเครื่องยืม-คืนหนังสือด้วยตนเอง (Self-Check Machine) ที่จัดซื้อด้วยงบประมาณโครงการ Mahidol Intelligent Library (Mahidol Digital Convergence University : DCU) สำหรับห้องสมุดในเครือข่าย จากหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ รวมถึงการใช้ฐานข้อมูลนักศึกษาและบุคลากรร่วมกันกับห้องสมุดในเครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เดือนพฤศจิกายน 2565
งานสารสนเทศฯ จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์การรับรู้ข้อมูล พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 หลังจากเริ่มจัดกิจกรรมนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักศึกษาและบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ งานสารสนเทศฯ จึงมีโครงการขยายการจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2566

กิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการตามประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีการจัดเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคลากร นักศึกษา ผู้รับบริการ และบุคคลอื่น เพื่อดำเนินงานด้านต่าง ๆ จึงเป็นเหตุอันควรที่จะกำหนดนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Policy) ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในการนี้ งานสารสนเทศฯ จึงดำเนินการเพื่อตอบรับนโยบาย มุ่งหวังให้บุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การตอบปัญหาชิงรางวัล การชี้ชวนให้เข้าร่วมอบรมผ่านบทเรียนออนไลน์ เป็นต้น

กิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัลเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ที่มา : ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข)

กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมการอบรมบทเรียนออนไลน์ เรื่อง หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านระบบ Mux (Mahidol University Extension)
(ที่มา : ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข)
พ.ศ. 2566

ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนจนเกิดเป็น วิถีปกติใหม่ (New Normal) แม้สถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ผู้คนโดยส่วนใหญ่ยังคงวิตกและหวาดระแวง ห้องสมุดรับทราบถึงปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อห้องสมุดเป็นสถานที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างเปิดกว้าง ทรัพยากรภายในห้องสมุดถูกสัมผัสอยู่ตลอดเวลา จนมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ห้องสมุดจึงดำเนินโครงการจัดซื้อตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV เพื่อทำความสะอาดทรัพยากรของห้องสมุด

การใช้บริการตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV (ที่มา : ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข)

ตามปกติแล้ว หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ห้องสมุดมีมาตรการป้องกันด้วยการทำความสะอาดทรัพยากรทุกประเภท ชั้นวางสิ่งพิมพ์ พื้นที่ให้บริการ รวมไปถึงห้องทำงานของบุคลากร และจะทำความสะอาดทรัพยากรภายหลังได้รับคืนจากผู้ใช้บริการด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้ง แต่เพื่อการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ ห้องสมุดจึงติดตั้งตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV ณ บริเวณเคาน์เตอร์บริการ โดยผู้ใช้บริการสามารถนำทรัพยากรห้องสมุดเข้าฆ่าเชื้อได้ด้วยตนเอง และยังสามารถใช้ตู้อบฆ่าเชื้อกับสิ่งของส่วนตัวของผู้ใช้บริการได้อีกด้วย โดยเริ่มให้บริการเมื่อเดือนมกราคม 2566

จากแผนพัฒนาห้องสมุดสู่การเป็น Smart Library ตามโครงการ Smart Library ในแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ดำเนินการติดตั้งเครื่องยืม-คืนหนังสือด้วยตนเอง (Self-Check Machine) ที่จัดซื้อด้วยงบประมาณโครงการ Mahidol Intelligent Library (Mahidol Digital Convergence University : DCU) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยเครื่องดังกล่าวสามารถให้บริการยืม คืน ต่ออายุการยืมทรัพยากรห้องสมุดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังเริ่มใช้งานอุปกรณ์ตรวจสอบการยืมทรัพยากรด้วยระบบ RFID ไปด้วยพร้อมกันในเดือนมกราคม 2566

เครื่องยืม-คืนหนังสือด้วยตนเอง (Self-Check Machine) จัดซื้อด้วยงบประมาณโครงการ Mahidol Intelligent Library (Mahidol Digital Convergence University : DCU)
(ที่มา : ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข)

งานอุปกรณ์ตรวจสอบการยืมทรัพยากรด้วยระบบ RFID ใช้ควบคู่กันกับระบบประตูอัตโนมัติ
(ที่มา : ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข)

เดือนมีนาคม 2566

งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข จัดงาน BookDay@Mahidol Science ในวันที่ 1-3 มีนาคม 2566 เป็นการจัดงานจำหน่ายหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เช่นเดียวกับงาน มหกรรมหนังสือมหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ ที่เว้นว่างการจัดงานมายาวนานถึง 3 ปี สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อ้างอิง

(1) TK-ROM. (2532). ก้าวใหม่ของห้องสมุดคณะฯ ด้วย CD-ROM. ข่าวคณะวิทยาศาสตร์. 2(6), 6.

(2) กิจกรรมและความก้าวหน้าของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ในทศวรรษที่ 4 ของคณะวิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2532-2541.) ใน 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2541. หน้า 181-182. กรุงเทพ : มปท.

(3) ห้องสมุด. (2533). บริการ DIALOG ฟรี. ข่าวคณะวิทยาศาสตร์. 3(3), 19.

(4) รุจเรขา อัศวิษณุ. (2536). ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข อีกก้าวหนึ่งของการพัฒนา ระบบการเรียน การสอน และงานวิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์. ข่าวคณะวิทยาศาสตร์. 10(6), 16.

(5) รุจเรขา อัศวิษณุ. (2536). ระบบสารสนเทศห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข. ข่าวคณะวิทยาศาสตร์. 11(6), 8.

(6) ฉวีวรรณ สุวรรณรัฐ. (2538). ข่าวห้องสมุด. ข่าวคณะวิทยาศาสตร์. 6(8), 40-41.

(7) การจัดตั้ง "งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข" ในสังกัดสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2546 (18 มิถุนายน 2564) เข้าถึงได้จาก https://stang.sc.mahidol.ac.th/about/history4.php